เผยแพร่ |
---|
วันที่ 2 สิงหาคม 2562 นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายพรรคอนาคตใหม่ พร้อมด้วยนางสาวเบญจา แสงจันทร์ ส.ส.ชลบุรีพรรคอนาคตใหม่ และนายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทราพรรคอนาคตใหม่ ร่วมแถลงข่าวถึงข้อร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ผังเมือง EEC และจุดยืนของพรรคอนาคตใหม่ต่อกรณีดังกล่าว
โดยนางสาวเบญจาระบุว่า นับตั้งแต่มีการริเริ่มโครงการ EEC ขึ้นมา ได้มีพี่น้องประชาชนหลายชุมชนในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.ชลบุรี ได้ทำหนังสือร้องเรียนมายังพรรคอนาคตใหม่หลายครั้ง โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรของพรรคในพื้นที่ พร้อม ส.ส. บัญชีรายชื่อ ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบปัญหาหลายครั้งตั้งแต่เข้ามาทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร พร้อมทั้งได้พิจารณาถึงข้อมูลเอกสารต่างๆ และเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตัวแทนประชาชนจากหลายพื้นที่ในสามจังหวัดภาคตะวันออกได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง จำนวนประมาณ 100 คน ได้เดินทางมารัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือต่อวิปฝ่ายค้านผ่านทางพรรคอนาคตใหม่ เพื่อเรียกร้องให้สำนักงานพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ยุติการพิจารณาให้ความเห็นชอบผังเมืองรวม EEC และดำเนินการจัดทำใหม่ตั้งแต่ต้นโดยให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีโอกาสเข้าร่วม
นางสาวเบญจากล่าวต่อว่าจากการพิจารณาข้อมูลในเชิงพื้นที่แล้ว พบว่าประเด็นสำคัญที่พี่น้องประชาชนกังวลนั่นคือผลกระทบต่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรม เนื่องจากหลายๆพื้นที่ๆถูกเปลี่ยนผังเมืองให้เป็นนิคมอุตสาหกรรม มีลักษณะพื้นที่ๆมีความมั่นคงทางอาหาร เป็นแหล่งเกษตรกรรมชั้นดี เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความพิเศษในระบบนิเวศถ้าผังเมืองเปลี่ยนสีจะมีปัญหากับวิถีชีวิตประชาชนอย่างมาก
พรรคอนาคตใหม่ขอส่งสารไปยังคณะกรรมการนโยบาย EEC ขอให้ท่านได้โปรดชะลอการเห็นชอบผังเมืองรวม EEC ไว้ก่อน ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. การจัดทำผังเมืองของสำนักงาน EEC เป็นลักษณะการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นรายโครงการที่กำหนดมาแล้วตามนโยบายพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของรัฐ ไม่ได้จัดทำโดยการศึกษาศักยภาพของพื้นที่ตามหลักวิชาการผังเมือง
2. มีการเปลี่ยนสีผังเมือง เช่น การเปลี่ยนสีเขียวชนบทเกษตรกรรมอันเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่สมบูรณ์ แหล่งความมั่นคงทางอาหารที่สำคัญของภาคตะวันออกและทั้งประเทศ ไปเป็นสีม่วงอุตสาหกรรมสำหรับนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เป็นการทำลายวิถีชีวิต เศรษฐกิจของชุมชน และสร้างผลกระทบกับประชาชนเป็นจำนวนมาก
3. การใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 47/2560 และออกกฎหมาย พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นการใช้กฎหมายเร่งรัดการจัดทำผังเมือง โดยไม่คำนึงการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในการจัดทำผังเมือง
“เราขอยืนยันว่าพรรคอนาคตใหม่ ไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา แต่ต้องการเห็นการพัฒนาที่คำนึงถึงวิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่ โดยให้พวกเขาได้เข้ามามีส่วนร่วมกับการพัฒนา ทั้งนี้รวมถึงการมีมาตรการในการจัดการผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม นั่นต่างหากคือการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ควรเกิดขึ้นที่ภาคตะวันออกและทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย” นางสาวเบญจากล่าว
ด้านนางสาวศิริกัญญา ได้กล่าวลงในรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงในผังเมืองรวม EEC พร้อมกับยกตัวอย่างพื้นที่ๆจะถูกนำไปทำเป็นนิคมอุตสาหกรรม โดยระบุว่าการวางผังเมืองรวม EEC ผิดหลักการในการทำผังเมืองทั่วไปมาก เพราะปกติจะต้องพิจารณาว่าพื้นที่มีความเหมาะสมที่จะทำอะไร ควรจะนำมาใช้ประโยชน์อะไร แต่ถ้าดูลงไปในรายละเอียด เราจะเห็นได้ว่ากว่า 90% ของเขตอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นมาในผังเมืองรวม EEC เป็นพื้นที่เกษตรกรรม หลายพื้นที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดี พื้นที่น้ำชุ่ม หรือพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก แต่การทำผังเมืองรวมล่าสุด เป็นการพิจารณาจากโครงการเป็นหลัก ไม่ได้คำนึงถึงความเหมาะสมของพื้นที่จริง นอกจากนี้ กระบวนการทำผังเมือง EEc ยังขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างถูกต้อง กระบวนการทำผังเมืองไม่ได้เป็นที่รับรู้ของชาวบ้านเลย
“เราจึงขอเสนอว่าคณะกรรมการนโยบาย EEC ควรที่จะชะลอการพิจารณาอนุมัติผังเมือง EEC นี้ออกไปก่อน ตอบคำถาม ข้อเท็จจริงกับผู้ที่ได้รับผลกระทบให้ครบถ้วนก่อน จนกว่าจะได้ข้อสรุปที่เป็นที่น่าพอใจกับทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ เราไม่ได้กำลังบอกว่าคุณจะต้องฟังชาวบ้านอย่างเดียว แต่คุณไม่ควรที่จะพัฒนาโดยทิ้งใครเอาไว้ข้างหลัง“ นางสาวศิริกัญญากล่าว
ขณะที่ นายจิรัฏฐ์ ได้เล่าเรื่องที่ได้รับร้องเรียนจากพื้นที่มา โดยกล่าวว่าตอนนี้คนที่อำเภอบางปะกงหลายจุดถูกไล่ออกจากที่อยู่ที่ทำกินของตัวเองที่อยู่มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า จากการประกาศผังเมือง EEC ทั้งๆที่เมื่อพิจารณาแล้วพื้นที่เหล่านั้นไม่เหมาะสมที่จะนำมาทำนิคมอุตสาหกรรมเลย อย่างจังหวัดฉะเชิงเทราเอง ไม่มีพื้นฐานรองรับที่จะพัฒนาตามโครงการที่ EEC วางไว้เลย อาชีพพื้นฐานคนแปดริ้วคือเกษตรกรรม เราไม่ได้คัดค้านความเจริญ แต่จะคิดตั้งอะไรตามอำเภอใจไม่ได้
นายจิรัฏฐ์กล่าวต่อว่าหากเราไปพิจารณาดูพื้นที่ภาคตะวันออก ยังพื้นที่มีตั้งอีก 90% ที่สามารถเอามาทำนิคมอุตสาหกรรมได้ เป็นพื้นที่ว่างเปล่า บางพื้นที่มีถนนตัดผ่านเรียบร้อย จนตนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการกำหนดพื้นที่ตามอำเภอใจ หรือตามใจนายทุนกันแน่ เพราะหลายพื้นที่ๆถูกเปลี่ยนสีในผังเมือง ก็บังเอิญว่าเป็นพื้นที่ๆนายทุนเคยมากว้านซื้อไว้หลายปีแล้ว และก็เพิ่งจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงเมื่อไม่นานมานี้