ปธ.วิป ปชป. ชี้ปัญหายางพาราต้องเดินไปพร้อมกัน6ขา แนะรบ.เร่งแก้ทั้งระบบเป็นองค์รวม

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.ปชป.นครศรีธรรมราช ในฐานะ ประธานวิป ปชป. เปิดเผยถึงการแก้ไขปัญหายางพาราในขณะนี้ว่า พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางได้ถามมามากว่าทำไมช่วงนี้ราคายางพาราตกต่ำลงไปต่อเนื่อง ในฐานะที่เป็น ส.ส.และติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าเกษตรกรชาวสวนยางได้รับผลกระทบความเดือดร้อนจากราคายางพาราตกต่ำอย่างหนัก ในฐานะที่ตนเองเป็นเกษตรกรชาวสวนยางคนหนึ่ง ได้เห็นและสัมผัสโดยตรง วิเคราะห์ว่าเหตุเกิดจากปัจจัย 2 ประการคือ

ปัจจัยภายใน เกิดจากเหตุหลายประการ ดังนี้ 1) ผู้ประกอบการหลายรายปิดโรงงาน หรือชะลอการรับซื้อ เช่น บริษัทมิตรไทยนครศรีธรรมราชปิด บริษัทบีไรท์ปิด บริษัทวงศ์บัณฑิตสุราษฎร์ ซึ่งเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ชะลอการรับซื้อ บริษัทเซาอิสต์ที่บุรีรัมย์ชะลอการรับซื้อ 2) การบริหารภาครัฐ (กยท.) ข่วงเปลี่ยนผ่าน ผู้ว่าการ กยท.ลาออก รักษาการท่านเยี่ยม ลาออก ประธาน กยท.ขึ้นรักษาการแทน 3) รัฐบาลก็ช่วงเปลี่ยนผ่าน 4) ผู้ประกอบการกลางน้ำ, โรงรมยาง กำลังล่มสลาย

ส่วนปัจจัยภายนอก เกิดจากเหตุหลายประการ 1) ตลาดซื้อขายล่วงหน้ากดราคาตั้งแต่ 3 เดือนที่แล้ว 2) ผลจากสงครามทางการค้าสหรัฐ-จีน 3) นโยบายรัฐบาลเดิม เรื่องการใช้ยางภายในประเทศ โดยเฉพาะทำถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ไม่ชัดเจนและถูกอภิปรายเรื่องล็อกสเปก จึงขาดความเชื่อมั่น 4) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศด้านยางขาดประสิทธิภาพและผลงาน

“ผมขอเสนอให้รัฐบาลแก้ปัญหาทั้งระบบเป็นองค์รวมพร้อมกัน จัดทัพใหม่ ยุทธศาสตร์ทุกมิติ และต้องดึงทุกภาคีเครือข่ายมามีส่วนร่วมเดินไปพร้อมกันทั้ง 6 ขา ประกอบด้วย 1) การเมือง นายกฯ รมว.เกษตรฯ พาณิชย์ คลัง อุตสาหกรรม 2) กยท.ต้องรีเอนจิเนียริ่ง มีเอกภาพ 3) ผู้ส่งออก 4) ผู้ประกอบการกลางน้ำ 5) ตลาดกลาง 6) สถาบันเกษตรกรและชาวสวนยาง และประการสุดท้ายเตรียมการประกันรายได้รัฐจ่ายเงินส่วนต่างในจุดคุ้มทุน (กก.ละ 60 บาท) อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกันกับปรับยุทธศาสตร์การพัฒนาวิถีชีวิตชาวสวนยางแบบยั่งยืนต่อไป” นายชินวรณ์กล่าวในที่สุด

ขณะที่ นายมนัส บุญพัฒน์ นายกสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย (ส.ค.ย.) กล่าวว่า เราคงต้องรอดูความวิกฤตราคาโกลาหลนับจากวันนี้ (30 กรกฎาคม 2562) และตลอดสัปดาห์ ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่อง 1) การทุบราคายางแผ่นดิบแผ่นรมควันจะรุนแรงเพิ่มขึ้น 2) เศษยาง-ขี้ยางที่แถวบ้านเรา (ภาคใต้) ที่มักพิงหลังอยู่กับยางแผ่น ซึ่งผู้ค้ารายย่อยจะกล้ารับซื้อจากมือชาวสวนราคาไม่เกิน 15 บาท/กิโล 3) น้ำยางสดราคาจะผันผวน และดิ่งลงเรื่อยๆ เพราะโรงงานน้ำยางข้นอ้างสารพัดปัญหาโดยเฉพาะคำว่า “ปิดโรงงาน”

4) มาตรการซื้อน้ำยางทำถนนด้วยราคารับซื้อที่อ้างไว้หรูหรา สุดท้ายก็ค่อยๆ เป็นง่อยเหมือนหลายๆ ครั้งที่ผ่านๆ มาเพราะออกแบบสูตรคิดแบบเอาหน้าและผลพลอยเก็บเบี้ยใต้ถุน

“ดังนั้นการลุกขึ้นชะโงกคอล่อหน้าออกมาถามหาการแก้ไขจากชาวสวนและกลุ่มต่างๆ จะเริ่มโดยอัตโนมัติโดยไม่พัก ต้องนัดหมายและเชิญชวน ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ราคายางจะแตะสามกิโลร้อย ท่านรัฐมนตรีเกษตร เนื่องจากเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยได้รับความเดือดร้อน จากราคายางตกต่ำมาก ซึ่งเป็นการทำลายเศรษฐกิจและสังคม” นายมนัสกล่าว

มีรายงานข่าวว่า ในวันที่ 3 สิงหาคม 2562 เกษตรกรชาวสวนยางนัดรวมตัวกันที่ อ.จุฬาภรณ์ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องยางพารา