หลัง’บิ๊กตู่’หลุดพูดในสภาว่าเพราะคนจนไม่เสียภาษี… นักวิชาการดัง เปิดข้อมูลชัดๆรายได้รัฐมาจากไหนมากสุด?

วันหลงการแถลงนโยบายรัฐบาล ภายหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวในช่วงหนึ่งถึงเรื่องเศรษฐกิจว่า เพราะคนจนไม่เสียภาษี ทำให้เศรษฐกิจฝืด

ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 ก.ค. พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงทัศนะลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ในหัวข้อ “คนจนไม่เสียภาษีจริงหรือ” โดยระบุข้อความดังนี้

เคยเขียนไว้นานหลายปีแล้วเรื่อง “คนจนไม่เสียภาษี” ถ้าเป็นสลิ่มทั่วไปยังพอเข้าใจได้เพราะเป็นพวกที่ใช้อคติความเชื่ออย่างเดียว ไม่สนข้อมูล แต่นี่ยังถูกย้ำด้วยคนระดับนายกรัฐมนตรีกลางสภา มันน่าเศร้า

ไม่ทราบว่า ประชุมกับข้าราชการกระทรวงคลังสารพัดเรื่องมาห้าปี โดยเฉพาะคือ พรบ.งบประมาณที่ผ่านครม.ทุกปี ไม่เคยมีข้อมูลภาษีประเทศผ่านสายตาเข้ามาบ้างเลยหรือ?

เลยขอเอาข้อความเก่ามาลงบางส่วน …

รายได้ที่รัฐบาลกลางจัดเก็บในปี 2557 มีจำนวน 2.5 ล้านล้านบาท มาจาก

– ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (รวมเงินเดือนของ “มนุษย์สลิ่ม” ข้างต้นด้วย) เพียง 2.8 แสนล้านบาทเท่านั้น แค่ 11% ของรายได้รัฐทั้งหมด

– ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจ (กำไรบริษัท) 7 แสนล้านบาท เป็น 28% ของทั้งหมด

– ที่เหลืออีก 1.5 ล้านล้านบาท ราว 61% ของทั้งหมดเป็นภาษีบริโภค ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต อากรขาเข้า-ขาออก ค่าธรรมเนียม ฯลฯ ส่วนนี้แหละที่คนไทยทุกคน (เน้นว่า “ทุกคน”) ต้องจ่ายผ่านการบริโภค ทั้งรวยและจน เมื่อใดที่ควักเงินใช้จ่ายซื้อสิ่งของ ก็จะจ่ายภาษีส่วนนี้ให้กับรัฐ

คนรวยแต่ละคนใช้จ่ายบริโภคมากและแพง ภาษีบริโภคที่คนรวยแต่ละคนจ่ายจึงมากตามไปด้วย ขณะที่คนจนแต่ละคนใช้จ่ายบริโภคเป็นเม็ดเงินน้อยกว่าหรือราคาถูกกว่า ภาษีบริโภคที่คนจนแต่ละคนจ่ายจึงน้อยกว่า ซึ่งก็ถูกต้องตามหลักภาษีบริโภคคือ กินมากใช้มาก กินแพงใช้แพง ก็จ่ายภาษีมาก

รัฐมีหน้าที่ใช้จ่ายภาษีเอื้อสวัสดิการแก่คนทุกกลุ่ม “ตามความจำเป็นอย่างเสมอภาค” และหลัก “ความเสมอภาค” หมายความว่า คนจนซึ่งอ่อนแอกว่า มีกำลังและทุนน้อยกว่า ต้องได้รับการดูแลจากรัฐมากกว่าในส่วนที่เขาขาดแคลนด้อยกว่าคนรวย ซึ่งก็คือ การศึกษาและสุขภาพ โอกาสเข้าถึงงานและแหล่งทุน ฯลฯ