แรงงานรถไฟยื่นสภาตั้งกมธ.ศึกษารถไฟเร็วสูง 3 สนามบิน ชี้พบพิรุธอื้อ หวั่นประเทศเสียหาย

“เครือข่ายแรงงานรถไฟ” ยื่นสภาตั้ง กมธ.ศึกษาผลกระทบรถไฟเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน-อีอีซี ชี้ พบพิรุธ “ซีพี” เสนอเงื่อนไขนอกทีโออาร์

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ที่สำนักงานทีโอที ถ.แจ้งวัฒนะ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กลุ่มธรรมาภิบาลไทย สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฟ้า และสมาพันธ์คนงานรถไฟ นำโดย นายอัครกฤษ นุ่นจันทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาสถาบันธรรมาภิบาลไทย เข้ายื่นหนังสือต่อนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองประธานวิปรัฐบาล เพื่อให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คือ สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง และสนามบินอู่ตะเภา ที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนและสร้างความเสียหายต่อประเทศชาติ

โดยนายอัครกฤษกล่าวว่า การที่ขอให้ตั้ง กมธ.ขึ้นมาศึกษาเรื่องดังกล่าวเพราะพบพิรุธหลายข้อ เช่น หลังจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ซีพี) เป็นผู้ชนะการประมูล ได้มีการเจรจาต่อรองกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ โดยเงื่อนไขที่ทางกลุ่มซีพียื่นข้อเสนอนอกทีโออาร์ คือ ขอขยายสัมปทานจาก 50 ปี เป็น 99 ปี และขอให้รัฐบาลช่วยหาแหล่งเงินกู้ให้ด้วย ขณะเดียวกันก็พยายามจะให้รัฐบาลประกันราคากรณีที่ขาดทุน สมมุติตลอดเส้นทาง 100 บาท บังเอิญซีพีเจ้าของโครงการเก็บค่าบริการได้ 70 บาท ก็ให้รัฐช่วยจ่าย 30 บาท จึงต้องการให้รัฐบาลตั้ง กมธ.ขึ้นมาเพื่อศึกษาก่อนที่จะอนุมัติออกไป

ด้านนายชินวรณ์กล่าวว่า สิ่งที่ทางกลุ่มยื่นมานั้นตรงกับที่ทางสภามีการเสนอญัตติในเรื่องนี้ 3 ญัตติ ได้แก่ 1.ขอให้สภาตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาตรวจสอบการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 2.ขอให้ตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาการดำเนินการโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และ 3. ขอให้ตั้ง กมธ.ศึกษาและตรวจสอบผลกระทบจากการดำเนินโครงการอีอีซี การวางผังเมือง และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ตนจะนำข้อเสนอดังกล่าวไปหารือกับประธานวิปรัฐบาลเพื่อหารือในช่วงที่ทั้ง 3 ญัตติดังกล่าวเข้าที่ประชุมสภา ส่วนจะมีการตั้ง กมธ.ขึ้นมาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับที่ประชุมจะพิจารณา

มติชนออนไลน์