บี้สตง.แถลงผลสอบจัดซื้อสารบีที 193 ล้าน สำหรับมะพร้าว ข้องใจ 7 ปีไร้ผลสรุป

ส.ส.ประจวบฯตามบี้ สตง.ภาค 12 เพชรบุรี แถลงผลสอบจัดซื้อสารบีที 193 ล้าน จากการประกาศเขตภัยพิบัติ หลังข้องใจสอบนาน 7 ปี ไร้ผลสรุป

วันที่ 24 กรกฎาคม นายประมวล พงศ์ถาวราเดช ส.ส. เขต 3 จ.ประจวบคีรีขันธ์ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) เพื่อพิจารณา ศึกษาแก้ไขปัญหาราคามะพร้าว สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า การประชุมคณะอนุ กมธ.ครั้งแรก เพื่อเร่งรัดแก้ปัญหาราครามะพะร้าวตกต่ำเหลือผลผละ 5 – 6 บาท ยืนยันว่าจะนำข้อสรุปยื่นให้รัฐบาลงดการนำเข้ามะพร้าวนอกทุกกรอบการค้า จนกว่าราคาผลผลิตในประเทศจะขยับขึ้นผลละ 10 -12 บาท สำหรับการนำเข้ามะพร้าวนอกโควต้าตามกรอบการค้าระหว่างประเทศ ได้แจ้งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ตรวจสอบเพื่อป้องกันปัญหาการระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าวอย่างเข้มงวด เพื่อแจ้งระงับการนำเข้าจนกว่าประเทศผู้ค้าจะแก้ไขปัญหาจากโรคพืช เนื่องจากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีการสุ่มตรวจพบปัญหาหลายครั้ง

นายประมวลกล่าวอีกว่า สำหรับการติดตามปัญหากรณีแกนนำเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนมะพร้าว ร้องเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งรัดตรวจสอบการจัดซื้อสาร บีที หรือเชื้อแบคทีเรีย กำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว เนื่องจากขณะนี้มีการเก็บสารบีที มูลค่า 32.8 ล้านบาท ที่หอประชุมอำเภอเมือง และ สารบีที มูลค่า 24.7 ล้านบาท ในอาคารใกล้เมรุร้าง วัดนาหูกวาง อ.ทับสะแก โดยเก็บไว้นานถึง 7 ปี ในสภาพหมดอายุการใช้งาน ล่าสุดทราบว่าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิที่ 12 จ.เพชรบุรี ได้สอบข้อเท็จจริงในการจัดซื้อสารบีที ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554 -2555 วงเงิน 193,577,000 บาท แต่ไม่ได้ชี้แจงผลการสอบสวนเรื่องดังกล่าว หลังจากผ่านไปหลายปี ขณะที่สำนักงานงบประมาณรอผลสรุปจาก สตง. โดยส่งเอกสารที่จังหวัดแจ้งจ่ายเงินทดรองราชการ 193 ล้าน กลับคืนให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดเก็บเรื่องไว้จนกว่า สตง.จะแจ้งผลให้ทราบในประเด็นการสอบเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดและฝ่ายปกครองจังหวัดร่วมกันทำสัญญาซื้อขายสารบีที

“ ในการประชุมครั้งต่อไป กมธ. จะเชิญตัวแทนจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ตัวแทนจากกรมวิชาการเกษตรชี้แจงผลการสอบสวน และเหตุผลความจำเป็นในการจัดซื้อสารบีที โดยจังหวัดประจวบฯประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉินตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554 ถึงเดือนสิงหาคม 2555 เพื่อจัดซื้อจากงบ ปภ. และจะถามว่าจังหวัดอื่นทั่วประเทศที่มีการระบาดของหนอนหัวดำ มีการจัดซื้อสารบีที ประเภทเดียวกันไปใช้หรือไม่ และขอให้กรมวิชาการเกษตรให้เหตุผลหลังจากมีหนังสือถึงฝ่ายปกครองจังหวัดประจวบฯ แจ้งว่าทางราชการไม่สามารถจัดซื้อได้ เนื่องจากยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับทางราชการเมื่อเดือนสิงหาคม 2555 หลังจากปล่อยให้ซื้อต่อเนื่องหลายครั้ง สำหรับการจัดซื้อครั้งสุดท้ายทำให้ทางราชการมีการเก็บสารบีทีไว้นาน 7 ปี ขณะที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าฝ่ายปกครองทั้ง 2 อำเภอได้ลงนามจัดซื้อไว้แล้วหรือไม่ ผู้บริหารระดับจังหวัดจะต้องชี้แจงเหตุผลให้ทราบ“ นายประมวลกล่าว

มติชนออนไลน์