“นายกฯ” รับปริมาณฝนน้อย แถมทำนาปรังเกินปริมาณน้ำ กำชับหน่วยงานเร่งแก้

“นายกฯ” รับปริมาณฝนน้อย กำชับหน่วยงานเร่งแก้ เหตุทำนาปรังเกินปริมาณน้ำ

ที่ทำเนียบรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ภัยแล้งในหลายพื้นที่ในขณะนี้ ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกระทรวงต่างๆได้ชี้แจงไปแล้ว ปัญหาเกิดจากอะไร โดยประเทศไทยเรามีน้ำมาจากฝนและมีการเก็บกักน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งเป็นการเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำประจำพื้นที่ แต่ปัญหาหลัก คือช่วงที่ผ่านมาปริมาณฝนที่ตกมีน้อยเกินไป เนื่องจากมีฝนทิ้งช่วง โดยมีสาเหตุเกิดมาจากสภาวะเปลี่ยนแปลงทางอากาศโลก เราจะต้องระมัดระวังมากขึ้น เพราะอากาศเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ที่ผ่านมาปริมาณน้ำในเขื่อนมาก เพราะเกิดจากพายุหลายลูก แต่ที่เราได้รับผลกระทบคือเจอพายุเพียงรูปเดียวแล้วสลายตัวก่อน ทำให้ปริมาณฝนที่ตกน้อยลงไปเอง ยอมรับว่าการเก็บน้ำก่อนหน้านี้ทำได้ แต่มีการทำนาปรัง ที่ปลูกเกินไปกว่า 1 ล้านไร่ ซึ่งจากการคำนวณแล้วสามารถรองรับได้กว่าล้าน 3 แสนไร่ แต่ปลูกไปแล้ว 2 ล้าน 6 แสนไร่ จึงต้องทยอยปล่อยน้ำออกมา เพราะประชาชนเรียกร้อง โดยปล่อยถึงขีดจำกัด ไม่สามารถปล่อยได้อีก เพราะถ้าปล่อยมากกว่านี้จะทำให้ระบบการประปามีปัญหา ซึ่งจะกระทบต่อน้ำอุปโภคและบริโภค อย่างไรก็ตาม วันนี้ที่มีปัญหามากที่สุดคือการเกษตร จึงต้องกลับมาดูว่าจะแก้ปัญหาตรงนี้อย่างไร อะไรก็ตามทุกหน่วยงานพยายามอย่างเต็มที่ แต่จากนี้เราต้องเรียนรู้ว่าจะอยู่กันอย่างไรต่อไปในสภาวะที่โลกมีอากาศเปลี่ยนแปลง เพราะเรื่องป่าและเรื่องน้ำมีความสัมพันธ์กันทั้งหมด เราให้ความสำคัญเพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ปลูกพืชการเกษตร

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า แต่จะทำอย่างไรในการบริหารจัดการ และไม่มีอะไรที่ทำในรัฐบาลนี้แล้วจะจบในรัฐบาลนี้ ทุกรัฐบาลต้องทำต่อในทุกเรื่องเหมือนการสร้างถนนก็ต้องมีเส้นที่ 2 ที่ 3และที่ 4 รถไฟสายที่ 1สายที่ 2และสายที่ 3 ทุกรัฐบาลก็ต้องทำต่อไป และหลังจากผ่านการแถลงนโยบายไปแล้วเปอร์เซ็นต์ทุกคนจะมาทำงานร่วมกัน 100 เปอร์เซ็นต์ และจะเอาเรื่องทั้งหมดมาปรึกษาหารือกันเพื่อหาวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสมมีมาตรการที่เหมาะสมแก้ปัญหาลดความเสี่ยง ตนถึงไม่สร้างปัญหาใหม่จากการแก้ปัญหาเดิม เพราะทั้งหมดมีบทเรียนอยู่แล้วในทุกเรื่องทางการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคง สังคม รวมถึงกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมมีปัญหาหมด เราต้องแก้เพราะโลกเปลี่ยนทุกวัน สิ่งพวกนี้เราเปลี่ยนได้ โดยแผนปฎิบัติราชการนโยบายของรัฐและแผนนโยบายของทุกกระทรวงที่ทุกกระทรวงต้องทำให้สอดคล้องกันให้เกิดเม็ดงานและแก้ปัญหาการทุจริต เรื่องใดที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลหรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.)ก็ว่าไป ก็เคารพกันเท่านั้นเอง

ด้าน พ.อ.หญิงทักษดา สังขจันทร์ คณะทำงานนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติม ถึงความคืบหน้าแก้ปัญหาภัยแล้งว่าได้ให้ สทนช. กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการหามาตรการที่เหมาะสมในการดูแลเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนเท่าที่จะดูแลได้ โดยการดูแลให้ความช่วยเหลือจะต้องสัมพันธ์กับพืชผลการเกษตร ที่ปลูกในขณะนี้ รวมทั้งเร่งแก้ปัญหาน้ำอุปโภค บริโภคที่ขาดแคลน สำหรับการทำฝนเทียมนั้น มอบหมายให้กรมฝนหลวงสำรวจว่าพื้นที่ใดมีความเหมาะสม ที่จะสามารถทำได้ หรือมีเมฆมาก มีความชื้นเพียงพอก็จะเร่งดำเนินการ

พ.อ.หญิง ทักษดา กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นได้เตรียมมาตรการระยะยาว ช่วยเหลือ ประชาชน ได้แก่ การเก็บกักน้ำเพิ่มกรณีฝนตก ซึ่งจะสามารถนำไปใช้ในช่วงฝนทิ้งช่วงได้ รวมถึงการขุดลอกแหล่งน้ำ การแก้ปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำ การให้การดูแลประชาชน ให้มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค ตลอดจนการรักษาสมดุลย์ของระบบนิเวศน์ สำหรับศูนย์ช่วยเหลือภัยพิบัติต่าง ๆ มี กระทรวงกลาโหม ได้ตั้งศูนย์บรรเทาภัยพิบัติ แจกจ่ายรถน้ำ และ กระทรวงมหาดไทย ทำการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมประชาชนว่ามีพื้นที่ใดได้รับความเดือดร้อนเพื่อเตรียมการเยียวยาต่อไป

มติชนออนไลน์