‘ทวี’ แฉรีสอร์ตรุกป่า สปอนเซอร์โต๊ะจีน พลังประชารัฐ ส.ส.ปาร์ตี้สนุกสนาน เย้ยหยัน ปชช.

เมื่อวันที่ 23 ก.ค. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์เฟซบุ๊กกรณีการจัดสัมมนาของรัฐมนตรีและ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ที่ 88 กามองเต้ รีสอร์ท อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ซึ่งถูกกรมอุทยานฯ สั่งให้รื้อถอน เนื่องจากบุกรุกที่ป่า ว่า เป็นการเย้ยหยันประชาชนและกฎหมายบ้านเมือง!!!

ซึ่งสำนักข่าวแห่งหนึ่ง ได้เสนอข่าว เกี่ยวกับ 88 กามองเต้ รีสอร์ท อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ว่า จากข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ (ข้อมูล ณ วันที่ 22 ก.ค. 2562) พบว่า 88 การ์มองเต้ รีสอร์ท จดทะเบียนในชื่อบริษัท 88 การ์มองเต้ จำกัด ปรากฏชื่อ นายวราวุธ เจนธนากุล ร่วมเป็นกรรมการ และนายวรพจน์ อำนวยพล ยังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 2 บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) หรือ SKY-F โดยบริษัทในเครือ SKY-F เป็นผู้สนับสนุนเงินระดมทุนโต๊ะจีนพรรคพลังประชารัฐเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา รวม 7 ล้านบาท

พฤติกรรมการจัดสัมมนาไปจัดงาน ในที่ส่อรุกป่าของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและรัฐมนตรี เพราะข้อมูลราชการเป็นที่ ส.ป.ก.และที่ป่าอุทยานทับซ้อนกันอยู่ ร่วมถึงการคงอยู่ของรีสอร์ทในพื้นที่ป่า ซึ่งเกี่ยวข้องเป็นผู้บริจาคเงินสนับสนุนพรรครัฐบาลดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงบริหารจัดการธรรมชาติ ของผู้ที่เป็นรัฐบาล ที่กีดกันคนจำนวนมากจากชุมชนและท้องถิ่นเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างเท่าเทียมกัน

เมื่อพิจารณาจากเอกสารคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่เตรียมสมาชิกในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 25-26 ก.ค. 2562 นโยบาย ในข้อ 10 การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยังยืน กรณีการลดความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองที่ดินตามหลักการของ “คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ”

ขณะที่ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม วันที่ 19 ก.ค. 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาล ให้ยกเลิก พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เพราะไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต สิทธิชุมชน และการจัดการทรัพยากรที่ดิน โดยสรุปไม่มีนโยบายที่เป็นรูปธรรมในการปฏิรูปโครงสร้างและการกระจายอำนาจการบริหารจัดการทรัพยากรแต่อย่างใด

การกระทำของรัฐมนตรี และ ส.ส.รัฐบาล ที่จัดสัมมนาในป่าวังน้ำเขียว มีกิจกรรมบันเทิงสนุกสนานในขณะที่ประชาชนภาคอีสานทุกข์ระทมจากปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรง ปัญหาถูกรัฐบาลจับกุมชาวบ้านและชุมชนจากนโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช .ปัญหาขาดที่ดินทำกิน ซึ่งการจัดสัมมนาของรัฐมนตรีและ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลในพื้นที่ป่าวังน้ำเขียวเป็นการเย้ยหยันประชาชนและกฎหมายบ้านเมือง

เข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับมาตรฐานจริยธรรมฯ ซึ่งตามมาตรฐานจริยธรรมฯ ข้อ 19 กำหนดว่า “ข้อ 19 ไม่คบหาสมาคมกับคู่กรณี ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติ หรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่”

ป.ป.ช. เป็นองค์กรที่มีหน้าที่ไต่สวนและมีความเห็นกรณี รัฐมนตรีและ ส.ส. ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 234 ซึ่ง ป.ป.ช. จะต้องไม่ปล่อยให้เรื่องการกระทำผิดผ่านไป ดังนั้น ความรับผิดชอบของ ป.ป.ช. ในการทำหน้าที่ เพื่อ “ให้บุคคลทุกคนต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน” ทุกคนต้องความเสมอภาคภายใต้การบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งความเสมอภาคเท่าเทียมยังเป็นนิยามของ “ความยุติธรรม” ที่เหมาะสมกับยุคปัจจุบันอีกด้วย!!