‘อัษฎางค์’ แจงสอบท้องถิ่น 62 บริสุทธิ์ ยุติธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้

นายอัษฎางค์ ปาณิกบุตร ประธานกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) ได้ดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ปี 2562 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่งจากการติดตามการสอบดังกล่าวยังไม่ปรากฏว่ามีการทุจริตหรือมีข้อสอบรั่วแต่อย่างไร แต่มีปรากฏข่าวเกี่ยวกับข้อผิดพลาดและคลาดเคลื่อนในบางประเด็น ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและผดุงไว้ซึ่งความสุจริต และเที่ยงธรรม ตลอดจนเกียรติภูมิของผู้เข้าสอบและผู้ที่สอบผ่านในการสอบครั้งนี้ จึงขอชี้แจงเกี่ยวกับข้อผิดพลาดและคลาดเคลื่อนในบางประเด็นที่ปรากฏว่า

ประเด็นเกี่ยวกับข้อความที่มีความคลาดเคลื่อน ในส่วนของ “ข้อแนะนำ” ซึ่งอยู่ที่ปกหน้าของแบบทดสอบนั้น ได้รับคำชี้แจงจากมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการสอบในครั้งนี้ว่า ข้อความดังกล่าว เป็นข้อความที่อยู่ในปกหน้าของแบบทดสอบ โดยเป็นการอธิบายวิธีการทำข้อสอบปรนัยให้ผู้เข้าสอบได้ทราบ ซึ่งข้อแนะนำดังกล่าวไม่ว่าหน่วยงานใดที่มีการจัดสอบแบบปรนัย ก็จะใช้ข้อความในลักษณะเดียวกัน ซึ่งไม่มีผลกระทบกับการทำแบบทดสอบหรือการตรวจให้คะแนนแต่อย่างไร ประกอบกับมหาวิทยาลัยได้มีการแจ้งไปยังสถานที่สอบต่างๆ ให้กรรมการคุมสอบแจ้งให้ผู้เข้าสอบได้ทราบและแก้ไขข้อความดังกล่าวให้ถูกต้องแล้ว โดยเหตุที่เกิดความคาดเคลื่อนดังกล่าว เกิดขึ้นมาจากการจำกัดให้เฉพาะผู้เกี่ยวข้องโดยตรงเท่านั้น ที่เข้าถึงข้อสอบได้ (เพื่อป้องกันการทุจริต) และเพื่อป้องกันการรั่วไหลของข้อสอบและคำตอบให้ได้ 100% ดังนั้น การตรวจทานโดยเฉพาะในส่วนที่ไม่ใช่เนื้อหาข้อสอบจึงอาจมีความคลาดเคลื่อนได้ ทั้งนี้ ข้อความที่คลาดเคลื่อนดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อเนื้อหาข้อสอบแต่อย่างใด

ส่วนประเด็นเกี่ยวกับมาตรฐานหรือเนื้อหาของข้อสอบ ที่มีข่าวว่า “มีการใช้หรือคัดลอกจากข้อสอบเก่าของหน่วยงานอื่น” ต้องเรียนว่า ในการสอบ ขรก.ท้องถิ่น การกำหนดขอบเขตเนื้อหาวิชาเฉพาะเจาะจงที่จะใช้เพื่อการทดสอบให้ได้บุคคลที่เหมาะสมกับการปฏิบัติงานใน อปท. เช่น ในภาคความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก) ได้มีการกำหนดให้สอบวิชาความรู้พื้นฐานในการปฏิบัติราชการ ซึ่งเป็นการทดสอบความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวกับกฎหมายในการปฏิบัติราชการของ อปท. จำนวน 11 ฉบับ ซึ่งหน่วยงานอื่นที่ไม่มีการสอบในวิชาดังกล่าว หรือการสอบภาคความรู้ความสามารถเฉพาะสำหรับตำแหน่ง (ภาค ข) ก็จะกำหนดให้สอบในวิชาที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานใน อปท. ในตำแหน่งนั้น เพราะฉะนั้นวิชาต่างๆ ส่วนใหญ่จึงเป็นระเบียบกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหน่วยงานอื่นก็ไม่มีการสอบในวิชาดังกล่าวเช่นเดียวกัน

โดยในการออกข้อสอบ ได้มีการกำหนดคุณสมบัติของกรรมการออกข้อสอบ ซึ่งต้องเป็นคณาจารย์ที่มีคุณวุฒิ ประสบการณ์การเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับวิชาที่จะออกข้อสอบ ไม่เป็นติวเตอร์ (ผู้สอนพิเศษ) หรือผู้จัดทำเอกสารหรือคู่มือเตรียมสอบที่เกี่ยวข้องกับการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการ ซึ่งคณบดีที่รับผิดชอบในศาสตร์สาขานั้นๆ ะประสบการณ์การเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับนการทุจริตในการพิจารณาคราวหน้เป็นผู้กลั่นกรองและคัดเลือก และต้องแจ้งรายชื่อคณาอาจารย์ที่เป็นกรรมการออกข้อสอบดังกล่าวเพื่อตรวจสอบด้วย อย่างไรก็ตาม  ได้กำหนดให้ต้องกระทำ ณ สถานที่กำหนดไว้เท่านั้น โดยแต่ละวิชาต้องให้คณาจารย์ในศาสตร์สาขานั้นอย่างน้อย 3 คน เป็นผู้ออกข้อสอบโดยการเขียนด้วยลายมือของผู้ออกข้อสอบ ไม่ให้พิมพ์ (เพื่อป้องกันการ copy) และต้องออกข้อสอบจำนวนอย่างน้อย 5 เท่าของจำนวนข้อที่ใช้ในการสอบ

ขณะเดียวกัน ก็ได้มีการกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัย สถานที่ บุคคล อย่างรัดกุม เข้มงวด และกำหนดการรักษาความลับแก่กรรมการคัดเลือกข้อสอบ เจ้าหน้าที่พิมพ์ข้อสอบให้เป็นความลับในระดับ “ลับที่สุด” ซึ่งนอกจากกรรมการคัดเลือกข้อสอบ เจ้าหน้าที่พิมพ์ข้อสอบเป็นต้นฉบับแล้ว ห้ามมิให้บุคคลอื่นเข้าถึงข้อสอบโดยเด็ดขาด รวมทั้งกำหนดให้มหาวิทยาลัยต้องกำหนดมาตรการเก็บตัวกรรมการออกข้อสอบ กรรมการคัดเลือกข้อสอบและเจ้าหน้าที่พิมพ์ข้อสอบจนกว่าการสอบแข่งขันจะเสร็จสิ้น โดยให้คณะอนุกรรมการป้องกันการทุจริตและเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นที่ ทำหน้าที่ตรวจสอบด้วยการสังเกตการณ์การปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการคัดเลือกข้อสอบด้วย

ทั้งนี้ ข้อสอบที่ได้รับการคัดเลือกและการพิมพ์ต้นฉบับข้อสอบ นอกจากจะต้องมีความมิดชิด ปลอดภัย รัดกุม โดยกำหนดให้มีผู้รับผิดชอบชัดเจนแล้ว ในการจัดทำแบบทดสอบ ก็ต้องมีคุณลักษณะที่ดีตามหลักการวัดผล คือมีความเที่ยงตรง (Validity) มีความน่าเชื่อถือ (Reliability) มีความยากง่ายพอเหมาะ (Difficulty) มีอำนาจจำแนก (Discrimination) มีความยุติธรรม (Fairness) และมีความเป็นปรนัย (Objectivity) รวมถึงต้องได้มาตรฐานตามหลักวิชาการเพื่อข้อสอบที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง

นอกจากนี้ นายอัษฎางค์ ยังได้ชี้แจงถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณในการสอบแข่งขันว่า งบประมาณที่ใช้ในการสอบแข่งขันในแต่ละครั้ง ใช้จากเงินค่าธรรมเนียมการสมัครสอบในอัตราคนละ 300 บาท (ไม่มีการตั้งงบประมาณจากส่วนราชการสนับสนุนหรืออุดหนุน) ซึ่งเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะใช้ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมการสอบ ขั้นตอนการดำเนินการสอบภาค ก สอบภาค ข สอบภาค ค จนถึงขั้นตอนการบรรจุผู้สอบแข่งขันได้เป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งการใช้จ่ายงบประมาณที่ได้มาจากค่าธรรมเนียมการสมัครสอบดังกล่าว ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะ กสถ. และการใช้จ่ายต้องเป็นไปตาม พรบ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 กฎหมาย ระเบียบและหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง และใช้จ่ายได้เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินการสอบแข่งขันเท่านั้น โดยการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ จะถูกตรวจสอบจากหน่วยงานต่างๆ เช่นเดียวกับการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานราชการอื่นหรือ อปท. เช่น กรมบัญชีกลาง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นต้น โดยงบประมาณที่เหลือจากการใช้จ่ายในการสอบแข่งขันทั้งหมดจะต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินไปแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท

ขณะที่ ประเด็นเกี่ยวกับหน่วยดำเนินการสอบแข่งขัน ระบุว่า การดำเนินการสอบแข่งขันในครั้งนี้ ได้ดำเนินการโดยคณะ กสถ. ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 8/2560 โดยกำหนดให้คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น (ก.กลาง) ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 เข้ามาทำหน้าที่เกี่ยวกับการสอบแข่งขัน เพื่อให้เป็นไปตามระบบคุณธรรม และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ” และให้คณะ กสถ. ที่ ก.กลาง แต่งตั้งขึ้น เป็นผู้ดำเนินการสอบแข่งขันตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ ก.กลาง กำหนด โดยการจัดการสอบแข่งขัน หากมหาวิทยาลัยที่ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้จัดการสอบแข่งขันภายใต้การกำกับดูแลของคณะ กสถ. ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ ก.กลาง กำหนดไว้ กรณีไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงการจ้างและเกิดความเสียหายต่อการสอบแข่งขันครั้งนี้ มหาวิทยาลัยต้องเป็นผู้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

“คณะ กสถ. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ได้ใช้ความพยายามและความทุ่มเทอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้การสอบเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม ได้คนดี มีความรู้ ความสามารถ มีคุณธรรม อย่างแท้จริงมาปฏิบัติงานใน อปท. จึงอยากให้เชื่อมั่นในกระบวนการสอบที่ผ่านมา และหากมีเบาะแสหรือพบเห็นพฤติการณ์การทุจริตการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ขอให้แจ้งคณะ กสถ. หรือสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดได้ทุกจังหวัด นายอัษฎางค์ กล่าวทิ้งท้าย