จุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม. ป้ายแดง สนผู้หญิง-ดูแลคนชรา-ห่วงเด็ก

ถือฤกษ์สะดวกเข้ากระทรวงวันแรกวันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม สำหรับเจ้ากระทรวงสังคมป้ายแดงคนใหม่ “จุติ ไกรฤกษ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

อาจจะดูช้ากว่าเจ้ากระทรวงอื่นที่พาเหรดเข้ากระทรวงกันตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ในเรื่องของการทำงาน เจ้ากระทรวงป้ายแดง “ไม่นิ่งนอนใจ” เพราะได้เดินสายพบปะพูดคุยกับ “กลุ่มเป้าหมาย” ที่อยู่ภายใต้การดูแลและทำงานร่วมกับกระทรวง พม.แล้ว

เซอร์ไพรส์แรกกับการเดินทางแบบส่วนตัวเข้าเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุ ที่ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดปทุมธานี อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ที่เจ้าตัวถึงกับ “ตกใจ” เมื่อทราบถึงค่าอาหารคนชราที่รัฐบาลจัดให้วันละ 57 บาท เพราะเท่ากับนักโทษในเรือนจำ

“ค่าใช้จ่ายดังกล่าวไม่เพียงพอในภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพที่สูงขึ้นในปัจจุบัน เมื่อเทียบจำนวนของนักโทษในเรือนจำที่มีมากกว่าก็สามารถถัวเฉลี่ยได้ เช่นเดียวกับเงินอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียนโรงเรียนขนาดใหญ่มีหลายพันคน แต่ในขณะที่บ้านพักผู้สูงอายุมีเป็นหลักร้อย จึงไม่เพียงพอในการจัดหาอาหารให้มีคุณภาพ” รมว.จุติเสนอความเห็น

ต่อด้วยการโชว์ “ติดดิน” ขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอส ฉายเดี่ยว ไม่มีผู้ติดตาม เดินทางไปร่วมงานประกาศรางวัลเกียรติคุณสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ประจำปี 2562 ที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ ด้วยความตั้งใจมาเป็นกำลังใจให้กับเหล่าสตรีนักธุรกิจ

“เรื่องผู้หญิงผมเห็นความสำคัญ” เจ้ากระทรวงคนใหม่ออกปาก ก่อนขยายความ

“ผู้ชายเป็นครึ่งหนึ่งของศักยภาพของประเทศ ผู้หญิงก็คืออีกครึ่งของศักยภาพของประเทศ ที่ผ่านมาอาจจะยังใช้ได้ไม่เต็มที่ หากเราดึงศักยภาพออกมาให้มากๆ ก็คงดี ไม่เฉพาะเพียงแต่ภาคธุรกิจเท่านั้น ต้องไปถึงภาคการเมืองท้องถิ่นระดับประเทศด้วย เชื่อว่าผู้หญิงมีความเข้มแข็ง ละเอียดอ่อน มีพลัง ที่ไม่ค่อยหวั่นไหว นี่เป็นสิ่งที่ซ่อนไว้และยังใช้ไม่ค่อยคุ้มค่า” จุติวางวิสัยทัศน์ ที่เผยต่อว่า เมื่อกระทรวงจะไปรับฟังปัญหาทันที และวางแผนการทำงานจากทุกภาคส่วน

“การทำงานต้องไปด้วยกันทั้งภาคการเมือง รัฐและภาคประชาชน ผมเองมาจากภาคประชาชนก็จะรู้ว่าเขาต้องการอะไร ก็จะได้ตั้งพิกัดให้กระทรวงเดินไปตามทาง”

นโยบายของกระทรวงที่จะผลักดัน รมว.พม.บอกทันทีว่า “มีเยอะ”

“เรื่องแรกคือผู้สูงอายุ เพราะประเทศไทยเริ่มเข้าสังคมผู้สูงอายุแล้ว หากไม่เตรียมอะไรไว้ อีก 15-20 ปี จะเกิดวิกฤต ขณะเดียวกัน เด็กและเยาวชนก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่มีความท้าทายอีกมากให้เร่งทำงาน รวมถึงประเด็นผู้หญิงเก่งที่มีความสามารถ แต่ไม่ได้รับการสนับสนุน ก็อยากผลักดัน” กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามผลงานเจ้ากระทรวงสังคม

 

มติชนออนไลน์