นักวิชาการมองนโยบายรัฐบาล ยังขาดการรับมือหลายด้าน

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า จากการประเมินภาพรวมนโยบายของรัฐบาล ส่วนใหญ่นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล จะเป็นการสานต่อนโยบายของรัฐบาลคสช. และนำนโยบายบางส่วนของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลมารวมอยู่ด้วย ทำให้นโยบายเร่งด่วนยังขาดมิติ และขาดการมุ่งเป้าไปที่การรับมือความท้าทาย จากการขยายวงกว้างของสงครามทางการค้า และภาวะเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ทำให้อาจมีธุรกิจบางส่วนต้องเลิกกิจการ โดยรัฐบาลใหม่ต้องมีนโยบายรองรับอย่างชัดเจน เพื่อพลิกโฉมภาคธุรกิจอุตสาหกรรมไทยและแรงงานไทย

“รัฐบาลควรมีมาตรการสร้างความปรองดองและลดความขัดแย้ง ด้วยกระบวนการเจรจาหารือและการมีส่วนร่วม ควรมีมาตรการส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่น เป็นธรรม และเสมอภาคในกระบวนการยุติธรรม กำกับดูแลไมให้มีการใช้สถาบันหลักของชาติ มาเป็นเครื่องมือใส่ร้ายป้ายสี และการทำลายล้างกันทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำดังกล่าว ต้องไม่เกิดจากบุคคลที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ นโยบายและมาตรการดังกล่าว จะทำให้เกิดความมั่นคงต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และทำให้เกิดเสถียรภาพทางการเมืองอันเป็นพื้นฐานที่จำเป็นต่อภาคการลงทุน”นายอนุสรณ์กล่าว

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า นโยบายเร่งด่วนต้องดูแลประชาชนฐานราก ส่วนนโยบายการเพิ่มสวัสดิการต่างๆ ให้กับประชาชน ต้องพัฒนาให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย และบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นโยบายพักหนี้ต้องทำควบคู่กับการยกระดับรายได้และขยายโอกาส ลดอำนาจผูกขาดในระบบ เพิ่มการแข่งขันและเปิดพื้นที่ในการทำมาหากินของประชาชน และธุรกิจรายเล็กมากขึ้น นอกจากนี้ไทยยังจำเป็นต้องปรับโครงสร้างงบประมาณ ปรับปรุงระบบราชการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่ซ้ำซ้อนสิ้นเปลือง เรียงลำดับความสำคัญโครงการต่างๆ ให้ดี ป้องกันการทุจริตจากการใช้จ่ายเงินภาครัฐ เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียเงินสาธารณะจากการชดเชยค่าโง่ต่างๆ ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายหรือการทำสัญญาสัมปทานที่ไม่รอบคอบ รวมถึงเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนโดยไม่สุจริต

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า สำหรับนโยบายระยะยาว ควรยึดตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งต้องทบทวนและจัดทำใหม่ โดยเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย การทำงานของรัฐบาลจะต้องทำแบบบูรณาการ เพื่อสร้างเครือข่ายมากกว่าการทำงานตามนโยบาย ภายใต้อำนาจหน้าที่รายกระทรวง โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในอีก 10-15 ปีข้างหน้า มีประชาธิปไตยที่มั่นคง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตเช่นเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว โดยควรมีการกำหนดไว้ในนโยบายรัฐบาลว่า จะจัดให้มีการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย และแก้ไขเนื้อหาในส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง

มติชนออนไลน์