‘ณัฏฐพล’ กวาดเรียบ ‘สพฐ.-สอศ.-สป.ศธ.’ ให้ ‘คุณหญิงกัลยา-กนกวรรณ’ ดูงานเล็กๆ น้อยๆ

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีคำสั่งแบ่งงานให้คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.เรียบร้อยแล้ว โดยตนจะรับผิดชอบดูแลสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ส่วนคุณหญิงกัลยาจะรับผิดชอบดูแลสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และนางกนกวรรณจะรับผิดชอบสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ

คุณหญิงกัลยากล่าวว่า นายณัฏฐพลให้นโยบายว่าจะต้องทำงานร่วมกัน และรับผิดชอบในการงานที่ถนัด ตนมองว่ามี 2 เรื่องที่สามารถผลักดันได้ทันที คือวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการเกษตร โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในเรื่องการเรียนการสอนด้านเกษตรแก่ผู้เรียน เพื่อยกระดับของการทำเกษตร พร้อมกับพัฒนานวัตกรรม พัฒนาเกษตรกรของไทย ให้เป็น Smart Farmer และนโยบายภาษาคอมพิวเตอร์ หรือการเรียนโค้ดดิ้ง ให้เป็นภาษาที่ 3 ที่เป็นภาษาสมัยใหม่ เป็นทักษะของโลกในอนาคต สามารถเริ่มทำได้เลย ระยะสั้นอาจไม่สามารถทำได้พร้อมกันทั่วประเทศ อาจทำได้ในบางกลุ่มโรงเรียน แต่ระยะยาววางแผนไว้ว่าจะบรรจุเรื่องการเรียนโค้ดดิ้ง ไว้เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนระดับประถมศึกษาทั่วประเทศ หากโรงเรียนไหนพร้อม อาจทดลองเปิดสอนในปีการศึกษา 2563 ได้ทันที โดยให้ สสวท.อบรมครู เพื่อสอนนักเรียนต่อไป อาจสอนเป็นตรรกะในการแก้ปัญหาในระดับชั้นอนุบาล เพื่อต่อยอดในการเรียนโค้ดดิ้งในระดับชั้นประถมศึกษาต่อไป เป็นต้น

“อย่างไรก็ตาม อยากเน้นการเรียนการสอนโค้ดดิ้งนี้ให้กับนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ให้มีโอกาสเข้าถึง มีโอกาสเรียนรู้ อย่างเท่าเทียมกับนักเรียนในเมือง และในวันที่ 25 กรกฎาคม จะแถลงนโยบายร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง” คุณหญิงกัลยากล่าว
ด้านนางกนกวรรณกล่าวว่า ศธ.มีแนวทางและนโยบายการบริหารงานอยู่แล้ว ตนอยากเพิ่มประสิทธิภาพจากเดิมที่ ศธ.มีอยู่ เช่น กศน.มีนักเรียนนักศึกษาอยู่ในสังกัดจำนวนมาก แต่ยังมีปัญหาที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข เช่น ทำอย่างไรให้ประชาชนเข้ามาเรียนเพิ่มมากขึ้น ส่งเสริมผู้เรียนได้เรียนพร้อมกับทำงานไปด้วยได้สะดวกยิ่งขึ้น พัฒนาหลักสูตรให้มีประสิทธิภาพ และส่งเสริมขวัญกำลังใจของครู กศน.ที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของรัฐบาล เป็นต้น

“รวมถึงการสร้างความภาคภูมิใจในการเรียนอาชีวศึกษาของนักเรียนนักศึกษาในสังกัด สอศ.พัฒนาการเรียนการสอน ของ สอศ.ในระบบทวิภาคีให้ดียิ่งขึ้น และจะส่งเสริมการเรียนลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด โดยส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนอย่างมีความสุข มีระเบียบวินัย ส่งเสริมให้เป็นพลเมืองของชาติในอนาคต และส่งเสริมให้นักเรียนมีความภาคภูมิใจในการเรียนลูกเสือ รวมทั้ง การแก้ไขปัญหาหนี้ครู ต้องได้รับแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น แม้ที่ผ่านมา ศธ.จะดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้ครูอยู่แล้ว แต่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เห็นว่าเรื่องเหล่านี้ ต้องได้รับการดูแลเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ครูมีความสุข มีประสิทธิภาพในการสอน” นางกนกวรรณกล่าว

มติชนออนไลน์