แบงก์ชาติชูแผนพัฒนาเทคโนโลยีการเงิน โชว์ยอดธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พ.ค.62 พุ่ง 700 ล้าน

วันที่ 18 กรกฎาคม 2562 นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภายในงาน “Bangkok FinTech Fair 2019” ว่า เรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology) จะกลายเป็น 1 ในวาระนโยบายที่แบงก์ชาติให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ โดยมองว่าเทคโนโลยีทางการเงินส่งผลให้เกิดข้อดี 3 ประการ ได้แก่ 1.ประสิทธิภาพการผลิต (Productivity) 2.การเข้าถึง (Inclusivity) และ 3.การมีเสถียรภาพ (Immunity) ขณะที่งานในปีนี้ 3 เรื่องดังกล่าวยังเป็นไฮไลต์หลักที่ ธปท.ผลักดันในโลกของการพัฒนาระบบการเงินไทย

“ผมอยากไฮไลต์ความสำเร็จเพิ่มเติมที่เราได้ทำมาในปี 2561 ปัจจุบันประชาชนไทยเกือบ 50 ล้านคนสามารถเชื่อมต่อกับบัญชีธนาคารผ่านระบบพร้อมเพย์ โดยจำนวนติดตั้งจุดใช้จ่าย QR Code ปัจจุบันเพิ่มขึ้นถึง 5 ล้านจุด ในส่วนของจำนวนธุรกรรมทางการเงินบนระบบอิเล็กทรอนิกส์เองก็เพิ่มขึ้นจาก 440 ล้านธุรกรรม/เดือน ในช่วง 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 700 ล้านธุรกรรม/เดือน ในเดือน พ.ค.62” นายวิรไท กล่าว

นอกจากนี้ นายวิรไท ยังชี้ว่าสิ่งหนึ่งที่เทคโนโลยีทางการเงินจะให้ประโยชน์แก่ประเทศชาติได้ คือ เครือข่ายทางการเงินที่มีคุณค่า (Value of Financial Network) กล่าวคือ หากระบบการเงินสามารถต่อเชื่อมกันได้แบบไม่สะเปะสะปะ (fragmented) ก็จะสามารถนำข้อมูลในระบบมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศเล็กๆ อย่างประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ในการที่สามารถนำบิ๊กดาต้าจากเครือข่ายที่เชื่อมกันอยู่มาใช้ หรือความสามารถในการทำให้ข้อมูลถ่ายโอนไปหากันได้

โดยการที่จะทำให้ Value of Financial Network เกิดขึ้นได้จะต้องมีปัจจัย 4 ประการสำคัญ ได้แก่ 1.โครงข่ายระบบแบบเปิด (Open Architecture Framework) คือ การออกแบบโครงสร้างพื้นฐานแบบเปิดเพื่อที่ผู้เล่นรายใหม่จะสามารถเข้ามาเชื่อมต่อกับระบบได้ 2.ระบบที่สามารถเชื่อมต่อสื่อสารกันได้ (Interoperability of System) เพื่อเปิดให้ระบบของผู้ให้บริการที่มีความแตกต่างกันสามารถที่จะเชื่อมโยงกันได้ รวมถึงเอื้อให้เงินในระบบการเงินสามารถที่จะไหลเวียนได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ระบบคิวอาร์โค้ด (QR Code) ที่ทำให้ผู้ให้บริการที่เป็นธนาคาร (Bank) และผู้ให้บริการที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-Bank) สามารถเชื่อมต่อกันและส่งผลให้เงินเกิดการเคลื่อนย้ายระหว่างกันอย่างคล่องตัวโดยที่ไม่มีปัญหา นอกจากนี้ ยังส่งผลดีในแง่ที่ให้ผู้ให้บริการสามารถแข่งขันกันได้อีกด้วย และ QR Code สามารถยกระดับขยายไปต่างประเทศได้ไม่เพียงแต่ในประเทศไทย เช่น เชื่อมโยงกับระบบในอาเซียนได้ เป็นต้น

3.โครงสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสม (Right Intensive Structure) โดยชี้ว่าโครงสร้างแรงจูงใจจะต้องจูงใจทั้งในส่วนของผู้ใช้บริการและในส่วนของผู้ให้บริการ เช่น การทำระบบให้สะดวกขึ้นหรือให้บริการในราคาที่ถูกลง เหล่านี้จะจูงใจให้ลูกค้าหันมาใช้บริการการชำระเงินที่ใช้เทคโนโลยีการเงินแบบใหม่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความมั่นใจ (Confidence) เป็นเรื่องสำคัญที่สุดเช่นกัน เพราะถึงแม้ว่าบริการจะสะดวกและมีราคาถูก แต่หากลูกค้าขาดความมั่นใจก็ไม่สามารถจูงใจให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการได้ ขณะเดียวกันในส่วนของผู้ให้บริการก็ควรจะมีโครงสร้างที่เอื้ออำนวย เช่น กฎเกณฑ์ที่ไม่มากจนเกินไป เป็นต้น เพื่อจูงใจให้ผู้ให้บริการอยากที่จะให้บริการ

และสุดท้าย 4.โครงสร้างกฎระเบียบ (Regulatory Framework) โดยเน้นว่าจะต้องบาลานซ์ (balance) กล่าวคือไม่ปล่อยเกินไปและไม่เข้มงวดจนเกินไป ต้องมีสมดุลเพื่อเอื้อให้ผู้ให้บริการสนใจที่จะมาลงทุนและให้บริการ และเพื่อดึงนวัตกรรมทางเงินต่างๆ ให้เข้ามาในระบบการเงินไทย ขณะเดียวกันก็ไม่ควรจะปล่อยจนเกินไปจนทำให้เกิดความเสี่ยงแก่ระบบ โดยการมีกฎระเบียบที่ยืนหยุ่นจะทำให้เราก้าวทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้

“เราเปลี่ยนกฎระเบียบให้เป็นกฎระเบียบที่อิงกับกิจกรรม (Activity Based Regulation) จากในอดีตอาจใช้กฎระเบียบหรือกฎเกณฑ์ตามรายสถาบันหรือรายผู้เล่น ตอนนี้เราจะไม่ดูที่ว่าเขาเป็นใคร แต่จะดูที่กิจกรรมที่เขาทำแทน ซึ่งจะทำให้การแข่งขันมีความยุติธรรมมากยิ่งขึ้น” นายวิรไทกล่าว

นายวิรไทกล่าวว่า ทั้งหมดที่กล่าวมาในข้างต้นจะไม่เกิดขึ้นหากไม่มีความร่วมมือ (Collaboration) และการจัดงาน Bangkok FinTech Fair 2019 ในครั้งนี้เองก็เป็นหนึ่งในความร่วมมือที่ทำให้ประเทศไทยได้เชิญผู้ให้บริการที่มีประสบการณ์จากทั่วเอเชียและทั่วโลกมาให้ความรู้และร่วมแชร์ประสบการณ์กัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายหลักที่ ธปท.ต้องการผลักดัน