ทนายวันชัย งัดหลักฐานเด็ด มัด ‘อุตตม’ ชี้ไร้คุณสมบัติเป็น รมว.คลัง

จากกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ มีกำหนดเข้าแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ระหว่างวันที่ 25-26 ก.ค.นี้ ซึ่ง 7 พรรคฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย เตรียมอภิปรายทั้งนโยบายและคุณสมบัติของ ครม.หลายราย ที่ไม่มีความเหมาะสม โดยเฉพาะนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง จากคดีปล่อยกู้กรุงไทย 9.9 พันล้านบาท ให้เครือบริษัทกฤษดามหานคร เมื่อปี 2546 ที่สุดท้ายแล้วคณะกรรการ 3 ราย ของธนาคารกรุงไทยที่อนุมัติถูกตัดสินจำคุก แต่นายอุตตม 1 ใน 5 คณะกรรมการที่ร่วมอนุมัติรอด โดยอ้างว่าเป็นผู้คัดค้านนั้น

เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวันชัย บุนนาค ทนายความอิสระ โพสต์ข้อความหักล้างคำกล่าวอ้างของนายอุตตม ใจความว่า วันที่ 8 ธ.ค.2547 นายอุตตม สาวนายน ให้การต่อผู้ตรวจการธนาคารพาณิชย์ของ ธปท. ไว้ในหน้า 2 แผ่นที่ 2 ชัดเจนว่า “ก่อนการประชุมพิจารณาปล่อยสินเชื่อ ราย บ.โกลเเด้นฯ-กลุ่มกฤษดามหานคร ในวันที่ 9 ธ.ค.2546 ฝ่ายเลขาคณะกรรมการบริหารได้จัดส่งรายละเอียดเกี่ยวกับลูกหนี้ให้ศึกษาก่อน 2 วัน นายอุตตมฯ เห็นว่าเป็นกรณีปกติ เป็นโครงการใหญ่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ”

วันที่ 25 ก.พ.2548 นายอุตตม สาวนายน ให้การกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไว้ชัดๆ ทำนองว่า “หลังจากปล่อยสินเชื่อไปแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยตรวจพบว่า ธ.กรุงไทย สาขาพระปิ่นเกล้า จ่ายเช็คเงินให้กู้แก่บริษัท โกลเด้นฯ แยกเป็นหลายฉบับ (11ฉบับ) ถ้ากรณีปกติจะจ่ายเช็คเป็นฉบับเดียว ธ.กรุงไทย จึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ผลปรากฏว่า มีผู้บกพร่อง ขาดความรอบครอบ จึงให้มีการสอบสวนเชิงลึกต่อไป นายอุตตม ให้การว่า ทราบจากการตรวจสอบของ ธปท.ในภายหลังว่า การพิจารณาปล่อยสินเชื่อในวันที่ 9 ธ.ค.2546 มีการให้ข้อมูลลูกหนี้ไม่ครบ

จึงขอแย้งว่า ปล่อยสินเชื่อ 9,900 ล้าน คณะกรรมการบริหารมีอำนาจต้องมีหน้าที่รับผิดชอบ ต้องเรียกขอข้อมูลลูกหนี้ให้ครบถ้วนก่อนวันที่ 9 ธ.ค.2546 วันที่ลงมติปล่อยสินเชื่อ ถ้าไม่ขอเองก็อย่าโยนความรับผิดให้บุคคลอื่น

วันที่ 16 ก.พ.2550 นายอุตตม สาวนายน ให้การกับ คตส. ชัดๆ ในหน้าที่ 4 แผ่นที่ 6 ทำนองว่า “การปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้รวมถึงราย บ.โกลเด้นฯ ธนาคารต้องตรวจสอบยอดหนี้ที่แท้จริงที่บริษัทดังกล่าวมีอยู่กับธนาคารกรุงเทพ เจ้าหนี้เดิมนั้น ต้องตรวจสอบก่อนนำเสนอคณะกรรมการบริหารพิจารณา แล้วก็อ้างถึงอะไรต่อมิอะไรที่นายอุตตมเห็นเป็นการผิดปกติ ก่อนวันที่ 9 ธ.ค.2546 วันที่ลงมติปล่อยสินเชื่อ 9,900 ล้านบาท

จึงขอแย้งว่า ถ้ากรรมการบริหารเห็นว่าผิดปกติต้องค้าน ต้องไม่ปล่อยสินเชื่อในวันที่ 9 ธ.ค.2546 นะครับ จึงจะอ้างว่าได้ทำการรักษาผลประโยชน์ของธนาคารกรุงไทย ปล่อยกู้ไปแล้วอ้างภายหลังนั้นน่าละอาย ทั้งยังขอถามพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และนายอุตตม สาวนายน รมว.คลังว่า นายอุตตม มีพฤติกรรมเยี่ยงนี้ ให้การแบบนี้ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเพียงประโยคสั้นๆ ไม่ได้รักษาผลประโยชน์ของธนาคารของรัฐ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารรัฐเสียหายไปแล้วจริง

แล้วนายอุตตม ยังเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 160(4)ของคนจะเป็น รมต.ว่าการกระทรวงการคลัง มากำกับสถาบันการเงินของประเทศไทยหรือไม่ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ฝ่ายค้านจะต้องดำเนินการตามช่องทางในรัฐธรรมนูญ 2560 กับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอุตตม เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวางบรรทัดฐานต่อไป