ธปท.เตรียมคุมบอนด์ลดเก็งกำไรระยะสั้น ชี้ดีกว่าลดดอกเบี้ยนโยบาย

วันที่ 17 กรกฎาคม 2562 นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในการประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ครั้งที่ 3/2562 ว่า ค่าเงินบาทไทยมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น โดยเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกประเทศหลังธนาคารกลางประเทศหลักมีการดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายมากขึ้น ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้ามากขึ้นในระยะหลังในประเทศเกิดใหม่ รวมทั้งประเทศไทย ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศของไทย ได้แก่ 1.ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง 2.สถานการณ์การเมืองในประเทศที่มีเสถียรภาพขึ้นส่งผลให้นักลงทุนบางส่วนสามารถกลับเข้ามาลงทุนได้

3.นักลงทุนมองเงินบาทในฐานะค่าเงินปลอดภัยในภูมิภาค (regional safe–haven) จากปัจจัยพื้นฐานที่ดีเชิงเปรียบเทียบ 4.ผลกระทบจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน (Trade tension) มีแนวโน้มอาจกระทบไทยน้อยกว่าประเทศอื่น 5.การเพิ่มน้ำหนักหุ้นไทยในดัชนี MSCI และพันธบัตรรัฐบาลไทยในดัชนี JP Morgan Emerging Markets Bond Index และ 6.ราทองคำที่ปรับสูงขึ้นส่งผลให้เกิดแรงเทขายออกมา ปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยที่กดดันให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเช่นกัน

ขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับการที่เงินทุนระยะสั้นไหลเข้ามาในประเทศและส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่า นายวิรไท กล่าวว่า ที่ผ่านมาธปท.ได้มีการปรับปรุงมาตรการป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาทและเพิ่มความเข้มงวดในการรายงานข้อมูลการลงทุนในตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ ได้แก่ การลดยอดคงค้างบัญชีเงินฝากสกุลบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (NRBA และ NRBS) จากเดิม 300 ล้านบาทเป็น 200 ล้านบาทต่อราย และการเพิ่มความเข้มงวดในการรายงานข้อมูลยอดคงค้างการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ โดยให้รายงานถึงระดับชื่อผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง (Ultimate Beneficial Ownership: UBO)

“เรื่องมาตรการที่เราออกไม่ได้หวังให้มีผลทันทีหรือเร่งด่วนในครั้งเดียว เช่น มาตรการ NRBA NRBS และมาตรการที่ให้เปิดเผยข้อมูลมากขึ้น (UBO) เพื่อลดขนาดท่อ ลดแรงกระแทก และสร้างกันชนเมื่อเงินไหลเข้ามาในประเทศแรงๆ โดยเราหวังจะให้เป็นมาตรการที่จะให้ผลต่อเนื่องในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ผลที่เกิดขึ้นมองว่าเป็นการส่งสัญญาณที่แรง โดยค่าเงินบาทอ่อนค่าลงในวันแรกที่ประกาศมาตรการและยังรักษาอยู่ในระดับที่อ่อนค่าลงได้ต่อเนื่อง นอกจากนี้ ในช่วง 2-3 ที่ผ่านมา เราเห็นสกุลเงินบางประเทศในภูมิภาคที่แข็งค่าขึ้นแต่สกุลเงินบาทไม่ได้แข็งค่าขึ้นตาม ดังนั้น มองว่านักลงทุนต่างประเทศจะต้องระวังมากขึ้นหากคิดว่าจะมาพักเงินในช่วงสั้นๆ ไว้ในประเทศไทย” นายวิรไท กล่าว

นอกจากนี้ เรื่องของการลดความต้องการขายตราสารหนี้ (Supply Bond) มองว่าอาจช่วยให้อัตราดอกเบี้ยในระยะสั้นลดลงและอาจช่วยลดแรงจูงใจของนักลงทุนในการมาพักเงินในประเทศไทยได้บ้าง ซึ่งดีกว่าการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายที่จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจอื่นๆ โดยการการปรับเพิ่มหรือลดซัพพลายบอนด์ ข้อดีคือมีความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายมากกว่าและสามารถปรับขึ้นลงได้ทุกเดือนขึ้นอยู่กับสถานการณ์เงินทุนไหลเข้าออกและเงื่อนไขทางการเงินของโลก

“ในช่วงที่ผ่านมามีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศรอบๆ บ้านของเรามีทิศทางปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงในช่วงที่ผ่านมา หากพิจารณาจะเห็นว่าประเทศเหล่านั้นมีอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่สูงกว่าไทยมาก และมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปมากแล้วในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงต้นแต่กลางปี 2561 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังอยู่ในระดับที่อาจเรียกได้ว่าเกือบจะต่ำสุดเมื่อเทียบกับประเทศที่มีความเสี่ยงและมีระดับของพัฒนาการทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกันที่ 1.75% รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังอยู่ในระดับต่ำสุดในภูมิภาค” นายวิรไท กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ทั้งในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริง โดยตัวเลข ณ วันที่ 11 ก.ค.62 อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงของไทยอยู่ที่ 0.88% ส่วนประเทศในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ เวียดนามอยู่ที่ 4.09% อินเดีย 3.30% มาเลเซีย 2.80% อินโดนีเซีย 2.72% ฟิลิปปินส์ 1.80% และเกาหลี 1.05% ด้านอัตราดอกเบี้ยที่เป็นตัวเงิน (Nominal Interest Rate) อยู่ในระดับต่ำเช่นกันเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค (ดูกราฟ)

“ในช่วงปลายปีที่แล้วเราปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปแล้วครั้งหนึ่งจาก 1.5% มาอยู่ที่ 1.75% ขณะที่หลายๆ ประเทศมีการปรับดอกเบี้ยนโยบายไปแล้วหลายครั้ง หลายประเทศ เช่น อินโดนีเซียและมาเลเซียก็อยู่ในระดับที่ประมาณ 3-4% ขึ้นไป ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเรายังอยู่ในระดับที่ต่ำ และการพิจารณาความเหมาะสมของอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก” นายวิรไท กล่าวสรุป