ไทยปลื้มเจรจากฎถิ่นกำเนิดสินค้า”อาร์เซ็ป”คืบ บรรลุ3ข้อใหญ่

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยความคืบหน้าการเจรจาว่าด้วยกฎถิ่นกำเนิดสินค้าและระเบียบปฏิบัติการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค(RCEP)รอบล่าสุดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา ว่า ประเทศสมาชิกสามารถหาข้อสรุปร่วมกันในประเด็นการพิสูจน์ถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งเป็นประเด็นข้อขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิกมาอย่างยาวนานได้

นายอดุลย์ กล่าวว่า สมาชิก RCEP ประกอบด้วยอาเซียน ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี และนิวซีแลนด์ รวม 16 ประเทศ ได้บรรลุข้อตกลงที่จะใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า การรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองโดยผู้ส่งออกที่ได้รับการรับรอง หรือการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองโดยผู้ส่งออกหรือผู้ผลิต สำหรับเป็นเอกสารในการพิสูจน์ถิ่นกำเนิดสินค้าต่อศุลกากรประเทศผู้นำเข้า เพื่อขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรภายใต้ความตกลง RCEP

“การที่ประเทศสมาชิกอนุญาตให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกรูปแบบการพิสูจน์ถิ่นกำเนิดสินค้าจากรูปแบบที่ระบุไว้ข้างต้น ย่อมช่วยยกระดับการอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคธุรกิจ โดยสามารถเลือกรูปแบบที่เหมาะสม มิได้ถูกจำกัดว่าต้องใช้รูปแบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าใดเป็นการเฉพาะ ซึ่งจะทำให้การค้าขายในประเทศสมาชิก RCEP มีความคล่องตัว และทำให้การค้าขยายตัวได้เพิ่มขึ้น รวมถึงการค้าของไทยกับสมาชิก RCEP” นายอดุลย์ กล่าว

นายอดุลย์ กล่าวว่า นอกจากประเด็นการพิสูจน์ถิ่นกำเนิดสินค้าแล้ว ที่ประชุมยังบรรลุข้อตกลงเพิ่มเติมอีก 3 มาตรา คือ 1.การคำนวณสัดส่วนวัตถุดิบภายในภูมิภาค (Regional Value Content: RVC) ซึ่งอนุญาตให้เลือกได้ว่าจะใช้วิธีการคำนวณทางตรง (Direct Method) หรือวิธีการคำนวณทางอ้อม (Indirect Method) 2.ความลับ ซึ่งกำหนดพันธะหน้าที่ของประเทศสมาชิกในการรักษาความลับ กล่าวคือ เมื่อประเทศสมาชิกได้รับข้อมูลใดๆ จากประเทศสมาชิกอื่นๆ ซึ่งมีการระบุว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับ ประเทศสมาชิกที่รับข้อมูลจะต้องเก็บรักษาข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับโดยให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบภายในของตน

นายอดุลย์ กล่าวว่า 3.แนวทางการบริหารจัดการสินค้าหรือวัตถุดิบที่เหมือนกันจนไม่สามารถจำแนกได้และสามารถใช้แทนกันได้โดยสมบูรณ์ กล่าวคือ หากมีการนำสินค้าหรือวัตถุดิบที่เข้าข่ายข้างต้นมาผสมกันระหว่างสินค้าหรือวัตถุดิบที่มีคุณสมบัติถิ่นกำเนิดสินค้าและขาดคุณสมบัติถิ่นกำเนิดสินค้า อนุญาตให้ใช้วิธีการบริหารสินค้าคงคลังตามหลักการทางบัญชีที่ได้รับการยอมรับในประเทศสำหรับจำแนกระหว่างสินค้าหรือวัตถุดิบที่มีคุณสมบัติถิ่นกำเนิดสินค้าและขาดคุณสมบัติถิ่นกำเนิดสินค้า

นายอดุลย์ กล่าวว่า ความชัดเจนของร่างข้อบทว่าด้วยกฎถิ่นกำเนิดสินค้าและระเบียบปฏิบัติการรรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าจะสนับสนุนให้การเปิดเสรีการค้าสินค้าภายใต้ความตกลง RCEP เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ตัวอย่างเช่น ข้อบทว่าด้วยความลับ ซึ่งเป็นข้อบทที่รับประกันได้ว่าข้อมูลทางการค้าที่ได้รับจากภาคเอกชนจะต้องนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์และเปิดเผยอย่างจำกัดเท่านั้น หรือ การอนุญาตให้สามารถเลือกได้ว่าจะใช้วิธีการคำนวณทางตรงหรือวิธีการคำนวณทางอ้อม ย่อมเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศผู้ส่งออกเลือกได้ว่าวิธีการคำนวณแบบใดสอดคล้องกับรูปแบบการค้า และความต้องการของผู้ประกอบการของตน แทนที่จะถูกจำกัดให้ต้องเลือกวิธีการคำนวณแบบใดแบบหนึ่ง เป็นต้น

“การเจรจาจัดทำกฎถิ่นกำเนิดสินค้าและระเบียบปฏิบัติการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าได้เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของการเจรจา แม้ว่ายังมีประเด็นที่ต้องหารือเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันอีกหลายประเด็น หากแต่การบรรลุข้อตกลงร่วมกันในประเด็นรูปแบบของการพิสูจน์ถิ่นกำเนิดสินค้าในการประชุมรอบนี้ เป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยไขปัญหาและสนับสนุนการเจรจาหาข้อสรุปในประเด็นที่เกี่ยวข้อง กรมการค้าต่างประเทศมั่นใจว่าจะสามารถผลักดันการเจรจาจัดทำกฎถิ่นกำเนิดสินค้าและระเบียบปฏิบัติการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าไปในทิศทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ประกอบการไทยและบรรลุข้อตกลงตามเป้าหมายเวลาที่ผู้นำประกาศไว้ในวาระการประชุมสุดยอดอาเซียน เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2562”นายอดุลย์ กล่าว

มติชนออนไลน์