“เจิมศักดิ์” วิเคราะห์ ครม.ประยุทธ์ 2/1 “ประชาชนกลืนไม่เข้า ประยุทธ์คายไม่ออก”

เมื่อวันที่ 15 ก.ค. นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต อดีตสมาชิกวุฒิสภา โพสต์บทความทางเฟซบุ๊กเรื่อง ประชาชนกลืนไม่เข้า ประยุทธ์ คายไม่ออก แสดงความเห็นเรื่องการจั้ดตั้งคณะรัฐมนตรี โดยระบุว่า

หลังจากประกาศตัวรัฐมนตรีในรัฐบาลประยุทธ์ สังคมส่ายหน้า เสียงบ่นพึมทั้งบ้านทั้งเมือง ว่าเป็นคณะรัฐมนตรีที่รับไม่ได้ มีภาพลักษณ์ที่ไม่ดี ถึงกับว่าเป็น ครม.อัปลักษณ์ก็มี

หากคนเหล่านี้มาสมัครงานบริษัทใดก็คงรับไม่ได้ และเป็นการจัดสรรคนไปทำงานในตำแหน่งที่ไม่ตรงความสามารถ (Put the wrong man in the wrong job)

ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด เห็นจะเป็น รมช.เกษตร 3 คน และ รมว.คลัง ที่มีภาพลักษณ์หรือโดนคดี ยาเสพติด มาเฟีย ทวงหนี้ ปล่อยกู้ โกงธนาคาร เป็นต้น รมช.บางคนหากต้องเดินทางไปประชุมที่ออสเตรเลียก็คงจะไม่ได้รับวีซ่าให้เข้าประเทศเป็นแน่

ยิ่งกว่านั้น ถ้ารวมกลุ่มก๊วนที่เคยอยู่กับระบอบทักษิณ บรรดาหัวหน้ากลุ่มก๊วนเหล่านี้ที่เคยสร้างปัญหาให้สังคมการเมืองก็ได้เป็นรัฐมนตรีบริหารประเทศจำนวนมากอีกด้วย

ผมเชื่อว่า ถ้าเลือกได้ พลเอกประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า ครม. คงจะไม่เลือกบุคคลเหล่านี้เข้ามาบริหารประเทศ

แต่อะไรเป็นเหตุให้นายกฯ ประยุทธ์ คายของเสียเหล่านี้ไม่ออก?

1. พลเอกประยุทธ์เป็นหัวหน้า คสช. ที่ได้ทำการยึดอำนาจประเทศไทย (จะด้วยความจำเป็นอะไรก็ตาม)

2. คสช.ต้องการรักษาอำนาจ หรือสืบทอดอำนาจหลังการเลือกตั้งที่จำใจจะต้องมี จะด้วยเหตุผล เพื่อความปลอดภัยของคณะผู้ยึดอำนาจแผ่นดิน หรือจะด้วยภารกิจที่จะต้องทำต่อก็ตาม

3. ความปรารถนาที่จะคงอำนาจต่อ (สืบทอดอำนาจ) ปรากฏชัดในกติกาของประเทศที่เรียก “รัฐธรรมนูญ” ที่อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ และคณะจัดทำแก้ไขเพิ่มเติมโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยเฉพาะการมี ส.ว. 250 คน จากการแต่งตั้งของ คสช. มาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี

4. นักการเมืองที่มีตำหนิ กลุ่มผู้หาผลประโยชน์จากอำนาจรัฐ และผู้ที่มีอิทธิพล (มาเฟีย) ในพื้นที่ต่างๆ ต่างมีจมูกไว สามารถได้กลิ่นอำนาจ จึงได้พากันโยกย้าย นำพากลุ่มก๊วนของตนเข้ามาอยู่พลังประชารัฐ หวังจะได้ผู้อุปถัมภ์ผู้คุ้มครองรายใหม่ ชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ต่างอะไรกับผู้ที่ยังไม่ได้ย้ายกลุ่มเข้าพลังประชารัฐ แต่ไปตั้งพรรคเล็กพรรคน้อย ก็วิ่งเข้าซุกปีกผู้อุปถัมภ์เพื่อขอความคุ้มครองและมีอำนาจไปด้วย

เราจึงพบรัฐมนตรีจำนวนมากเคยอยู่กับระบอบทักษิณ เพราะเมื่อทักษิณมีเงินมีอำนาจ กลุ่มคนพวกนี้ก็ได้กลิ่นอำนาจเพราะจมูกไว เข้าร่วมสนับสนุนทักษิณ แต่เมื่ออำนาจของรัฐใน 5 ปีต่อไปนี้อยู่ที่พลเอกประยุทธ์ ผู้มีปืนและอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยและคณะก็ทยอยกันเข้าซุกปีก

ถ้าจำได้ หลายคนก็ออกมายอมรับหน้าตาเฉยว่า ที่มาร่วมกับ พปชร.ก็เพราะรัฐธรรมนูญ60 เขาออกแบบไว้ให้ พปชร.เป็นรัฐบาล พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ

5. ผู้มีตำหนิเหล่านี้ ผู้ทรงอิทธิพล ผู้ต้องคดีเหล่านี้ ต้องการจะอยู่กับอำนาจรัฐ ไม่ต่างอะไรกับผู้ทำรัฐประหาร ก็ต้องการอยู่กับอำนาจรัฐ บุคคลเหล่านี้จึงหลอมรวมเป็นธาตุเดียวกัน (ดูแรมโบ้อีสานเป็นตัวอย่าง)

หากผู้ใดมีตำหนิมาก หลอมรวมเป็นรัฐบาลยาก จะชัดไป ก็เปลี่ยนเป็นน้องสาว สามี ลูกชาย หรือญาติสนิท เราจึงพบลักษณะของการสืบทอดวงศ์ตระกูลในรัฐบาล

6. ผู้มีตำหนิ ผู้มีอิทธิพล ผู้ต้องคดีเหล่านี้ เข้ามาช่วยหนุนให้ “นาย” ในระบบอุปถัมภ์ ได้มีอำนาจ ยอมเป็นผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ที่ใช้จำนวนคนในกลุ่มก๊วน (กลุ่มอุปถัมภ์ย่อย)ของตน สนับสนุน “นายที่ชื่อประยุทธ์”

แต่ “นาย” ก็ต้องตอบแทน ให้การคุ้มครอง ให้ผลประโยชน์ จึงเกิดการเจรจาต่อรองที่นั่งรัฐมนตรี โดยไม่สนใจความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ แต่ถ้ากลุ่มก๊วนเรามีจำนวน ส.ส.มากกว่า ก็ต้องได้กระทรวงที่มีงบประมาณ มีอำนาจมาก

7. เมื่อหัวหน้ากลุ่มก๊วนในระบบอุปถัมภ์เหล่านี้ ได้เป็นรัฐมนตรี อันดับต่อไป คือ ส.ส.ที่อยู่ในกลุ่มอุปถัมภ์ก็จะต้องแสวงหาผลประโยชน์ อำนาจ สิทธิพิเศษ และการคุ้มครองพิเศษจากหัวหน้ากลุ่มก๊วนต่อไปตามลำดับ

8. สถานการณ์ปัจจุบัน

1) “นาย” พลเอกประยุทธ์ กลืนไม่เข้า คายไม่ออก เพราะนับแต่ยึดอำนาจการปกครองประเทศ ก็ตกกะไดพลอยโจน มีเนติบริกรสร้างกฎหมาย สร้างรัฐธรรมนูญรองรับ ยิ่งทำให้ตกเข้าสู่วังวนของอำนาจและผู้คนที่แสวงหาการคุ้มครอง แสวงหาผลประโยชน์ในระบบอุปถัมภ์ที่มีตำหนิ

ยิ่งจำนวนเสียง ส.ส.ในสภาสูสี ปริ่มน้ำ ผู้เป็น “นาย” ก็ต้องหวังพึ่งพา “ไพร่ทาส” ทุกคน

“นาย” นายกฯ ประยุทธ์ จึงเป็นบุคคลที่น่าเห็นใจ น่าสงสาร และน่าเป็นห่วงในชื่อเสียงเกียรติยศ

2) แม้เนติบริกรจะช่วยรับหน้า อธิบายถูไถ แก้ปัญหาไปแต่ละครั้ง เช่น การเลือกสรร ส.ว. ไม่ต้องบอกวิธีและเกณฑ์ในการเลือก เพราะประชาชนไม่มีส่วนได้เสีย! รัฐมนตรีบางคนต้องคดีในต่างประเทศ ถูกศาลต่างประเทศตัดสิน ไม่มีกฎหมายห้ามเป็นรัฐมนตรี ส่วนความเหมาะสม จริยธรรม ก็เป็นเรื่องต้องไปว่ากัน!

ยิ่งพูด น้ำหนักในคำอธิบายก็จะยิ่งลดน้อยลงไปเรื่อยๆ หรือไม่

3) รัฐมนตรีที่มีตำหนิเหล่านี้ ก็ไม่ได้เป็นอิสระ แต่เป็น “นาย” ของลูกน้องที่อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์จำนวนหนึ่ง จะทำอย่างไรกับการบริหารประเทศ จะสานต่อโครงการเก่า หรือจะสร้างโครงการใหม่ จะเอื้อประโยชน์ใครหรือไม่? จะเปิดเผยข้อมูลโปร่งใสมากน้อยแค่ไหน? จะมีการปราบปรามคอรัปชั่นมากน้อยแค่ไหน หรือจะเป็นผู้เอื้อประโยชน์เสียเอง?

4) ถ้าเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ อีกไม่นาน “นาย” นายกฯ ประยุทธ์ ก็จะซวนเซ และจากไปก่อนเวลา คนกลุ่มนี้ ซึ่งลองพิจารณาดูชื่อ ตั้งแต่รองนายกฯ และรัฐมนตรีจำนวนมาก ต่างเคยอยู่กับระบอบทักษิณและพรรคไทยรักไทย ก็จะค่อยๆ ตีจากไปหาผู้มีอำนาจรายใหม่

สถานการณ์จะลงเอยอย่างไร? ที่ทั้งนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐมนตรีส่วนน้อยบางคนที่เป็นคนตั้งใจอยากเข้าบริหารประเทศ รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ ที่หลงเข้ามาสู่วังวนของคนที่มีธาตุเดียวกัน ไหลมารวมกัน จะทำอย่างไรต่อไป? น่าเป็นห่วงครับ!

ที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ ประเทศและคนไทย ที่ในปัจจุบันจะต้องเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในเวทีโลกท่ามกลางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง ความเหลื่อมล้ำของคนไทย ทั้งรายได้และโอกาส จะทำอย่างไร? การสร้างภูมิคุ้มกันให้คนไทย โดยเฉพาะคนด้อยโอกาสจะมีใครคิดถึงและทำอย่างไร

สุดท้าย สังคมไทยกำลังเป็นสังคมสูงวัย ที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ ถึง 1 ใน 3 ของคนไทยทั้งประเทศ สัดส่วนคนวัยทำงานกลับลดลงและเด็กเกิดใหม่น้อยลง โดยเฉพาะผู้ที่เกิดจากพ่อแม่ที่พร้อม

รัฐบาลประยุทธ์จะรับมือกับสงครามใหม่ ข้าศึกใหม่ “สังคมสูงวัย” ไหวไหมครับ?

มติชนออนไลน์