ฝ่ายกฎหมายเพื่อไทยจ่อเชิญ ผวจ.ประจวบฯชี้แจงใช้งบซื้อสารบีที 200 ล้าน หลังพบยังไม่ขึ้นทะเบียน

ฝ่ายกฎหมายเพื่อไทยจ่อเชิญ ผวจ.ประจวบฯชี้แจงใช้งบซื้อสารบีที 200 ล้าน กำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว หลังกรมวิชาการเกษตรอ้างยังไม่ขึ้นทะเบียน

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม นายวิชิต ปลั่งศรีสกุล ที่ปรึกษากฎหมายพรรคเพื่อไทย อดีตผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในฐานะคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณา ศึกษาแก้ไขปัญหาราคามะพร้าวและสับปะรด สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รวบรวมข้อมูลเอกสารหลักฐานกรณีแกนนำเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนมะพร้าว จ.ประจวบคีรีขันธ์ เรียกร้องให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อดีต ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ 4 สมัย เร่งรัดติดตามตรวจสอบการจัดซื้อสารบีที หรือเชื้อแบคทีเรีย กำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว ปัจจุบันมีการเก็บสารบีที มูลค่า 32.8 ล้านบาท ที่หอประชุมอำเภอเมือง ห่างจากบ้านพักรองผู้ว่าราชการจังหวัด 50 เมตร และสารบีที มูลค่า 24.7 ล้านบาท ในอาคารใกล้เมรุร้าง วัดนาหูกวาง อ.ทับสะแก ซึ่งเก็บไว้นานถึง 7 ปีในสภาพหมดอายุการใช้งานและอาจมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม โดยเสนอให้นายประมวล พงศ์ถาวราเดช ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานอนุฯทำหนังสือเชิญ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อธิบดีกรมวิชาเกษตร อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงข้อเท็จจริงในที่ประชุม

“หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าหลังจากผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุว่า สารบีทีทั้งหมดเป็นวัตถุอันตรายประเภท 2 เป็นขยะพิษ จากการตรวจสอบ เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 จากนั้นขอให้จังหวัดเร่งพิจารณาดำเนินการเคลื่อนย้ายโดยเร็ว แต่ขณะนี้สารเคมีดังกล่าวยังไม่ได้เคลื่อนย้ายออกไปบำบัดตามหลักวิชาการ ขณะที่ฝ่ายปกครองทั้ง 2 อำเภอยืนยันว่ายังไม่ได้ใช้งบประมาณจัดซื้อสารเคมี จากการประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉิน เมื่อเดือนสิงหาคม 2555 เนื่องจากกรมวิชาการเกษตรมีหนังสือแจ้งว่าสารดังกล่าวไม่ได้ขึ้นทะเบียนรับรอง ทำให้การระบาดของหนอมหัวดำเมื่อหลายปีก่อนส่งผลกระทบกับผลผลิตมะพร้าวในจังหวัด เป็นสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลต้องอนุมัติมะพร้าวนำเข้าจากต่างประเทศหลายแสนตัน

นายวิชิตกล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบย้อนหลังพบว่าระหว่างปี 2553-2555 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้ประกาศเขตพิบัติฉุกเฉินพื้นที่ระบาดแมลงศัตรูมะพร้าวในหลายอำเภอหลายครั้งต่อเนื่อง มีการใช้งบซื้อสารบีทีกว่า 200 ล้านบาท ดังนั้นอธิบดีกรมวิชาการเกษตรควรให้คำตอบว่าเหตุใดกรมจึงไม่จัดซื้อในส่วนกลาง เพื่อนำไปแจกจ่ายให้เกษตรกร สำหรับข้ออ้างว่ามีมหาวิทยาลัยของรัฐบางแห่งให้การรับรองจากผลการวิจัยการใช้สารบีที ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ต้องยืนยันว่าการจัดซื้อ โดยกระทรวงมหาดไทยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ และเหตุใดหลังกรมวิชาการเกษตรทักท้วง จึงยุติการจัดซื้อทันที กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยต้องชี้แจงว่า ขณะนี้ยังมีปัญหากับสำนักงบประมาณกรณีใช้งบทดรองราชการจัดซื้อสารบีทีหรือไม่ เพราะหลังจากปี 2555 กรมได้ประกาศยกเลิกการประกาศเขตภัยพิบัติจากศัตรูพืชทุกจังหวัดทั่วประเทศ

 

มติชนออนไลน์