หวั่นไม่คุ้ม! เท PPP โปรเจ็กต์เชื่อมโทลล์เวย์-ทางด่วน 7.5 พันล้าน

เอกชนเมินสร้างทางเชื่อมโทลล์เวย์-ทางด่วน มูลค่า 7,591 ล้านบาท หวั่นไม่คุ้ม กทพ.สร้างเองทางด่วนสายสายเหนือ เชื่อมต่อกับแนวใหม่ ทดแทน N1

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์รายงานถึงแหล่งข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีข้อยุติในเบื้องต้นถึงการเจรจากับเอกชนผู้รับสัมปทานทางด่วนคือ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) กับ บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง (โทลล์เวย์) ที่รับสัมปทานโทลล์เวย์ เพื่อร่วมลงทุนโครงการทางเชื่อมทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตกกับโทลล์เวย์ในรูปแบบ PPP วงเงิน 7,591 ล้านบาท ทางโทลล์เวย์จะไม่ร่วมลงทุนเนื่องจากประมินแล้วไม่คุ้มทุน ส่วน BEM กำลังรอคำยืนยัน

“หากเอกชนไม่สนใจลงทุน ก็เท่ากับล้ม PPP โครงการ กทพ.จะลงทุนเอง คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท เพราะโครงการจะต่อเชื่อมกับทางด่วนขั้นที่ 2 สายเหนือที่ปรับสร้างทดแทนช่วง N1 ช่วงเกษตร-นวมินทร์ที่แนวใหม่จะอ้อมไปยังคลองบางบัว และด้างหลัง ม.เกษตรฯ แล้วเลี้ยวไปตามแนวถนนวิภาวดีมาถึงแยกรัชวิภา เพราะเราได้มีการลงทุนสร้างฐานรากและเสาตอม่อ 8 ฐานไว้รอแล้ว โดย กทพ.ออกงบประมาณไปก่อน 173 ล้านบาท เพื่อเร่งงานก่อสร้างเพราะอยู่ในพื้นที่ของรถไฟจะใช้สร้างสายสีแดง”

สำหรับทางเชื่อมโทลล์เวย์และทางด่วนศรีรัช มีระยะทาง 2.6 กม. รูปแบบเป็นการสร้างทางยกระดับสูงประมาณ 40 เมตร ตามแผนจะเริ่มก่อสร้างในปี 2563 แล้วเสร็จในปี 2565 มีปริมาณการจราจรอยู่ที่ 64,500 เที่ยวคันต่อปี ซึ่งเป็นโครงการที่คุ้มค่าต่อการลงทุนทั้งด้านเศรษฐกิจและการเงิน

เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยแก้ปัญหาจราจรในเขตเมืองและเป็นโครงข่ายเชื่อมการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯโซนตะวันตกกับตะวันออก เนื่องจากในอนาคตจะมีโครงข่ายทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือช่วง N2 ที่มีการขยายเส้นทางจากเกษตร-นวมินทร์ เลาะมาตามถนนวิภาวดีรังสิตมาเชื่อมด้วย