ทวี ชี้คดี 32 ส.ส.ถือหุ้นสื่อ เป็นเครื่องพิสูจน์หลักนิติธรรม-กม.ต้องเท่าเทียม

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์เฟซบุ๊กถึงปมร้อน คดีถือหุ้นสื่อกับการธำรงไว้ถึงหลักนิติธรรมว่า

“หลักนิติธรรม” ได้ถูกบัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เป็นครั้งแรก ในมาตรา 3 วรรค 2 ที่บัญญัติว่า

“การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐ จะต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม “

ต่อมาพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งเป็นหนังสือตำราภาษาไทยแห่งชาติ ที่จัดทำให้คนไทยและทางราชการใช้ภาษาไทยเป็นมาตรฐานเดียวกัน ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2554 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน “นิติธรรม หมายถึง หลักพื้นฐานแห่งกฎหมายที่บุคคลทุกคนจะต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน”

และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 นี้ คำว่าหลักนิติธรรม ถูกบัญญัติไว้ ตามมาตรา 3 วรรค 2 ว่า

“รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ดังนั้นหลักนิติธรรมควรต้องนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมโดยยึดประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนเป็นสำคัญ”

แม้ “หลักนิติธรรม” นักกฎหมาย นักวิชาการ ผู้บังคับใช้กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม ยังอาจมองเป็นภาษาที่เป็นนามธรรมอยู่มาก แต่ภาษาตามพจนานุกรมมีความชัดเจนแล้วว่าบุคคลทุกคนต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน หรือไม่เลือกปฏิบัติ หรือไม่ปฏิบัติสองมาตรฐานหรือปฏิบัติตามอำเภอใจ

คดีถือหุ้นสื่อของผู้สมัคร ส.ส. 32 คน และของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ เคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งที่พิพากษา เช่น คดีคุณภูเบศร์ เห็นหลอด, คุณคมสัน ศรีวนิชย์, และคดีอื่นๆ คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง (รวม 9 คำพิพากษา) สรุปว่า

“ในประเด็นการถือหุ้นดังกล่าว แค่เพียงผู้สมัครเข้ารับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการโรงพิมพ์รับพิมพ์หนังสือพิมพ์หนังสือจำหน่ายและจำหน่ายหนังสือพิมพ์ก็ถือว่าขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ 98 (3) แล้ว

แม้ผู้สมัคร ไม่ได้ประกอบกิจการโรงพิมพ์ รับหนังสือพิมพ์ พิมพ์ หรือจำหน่ายและออกหนังสือพิมพ์เลยและไม่ว่าจะได้รับใบอนุญาตให้ทำกิจการเกี่ยวกับสื่อเฉพาะหรือจะได้รับอนุญาตให้เปิดสถานีวิทยุชุมชนแล้วหรือไม่ก็ตาม เมื่อยังไม่จดทะเบียนเลิกกิจการและยังเป็นผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วนผู้จัดการอยู่ ย่อมขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามแล้วเช่นกัน”

เมื่อได้ดูรายละเอียดทางคดีส่วนใหญ่ มีข้อเท็จจริงว่า เมื่อ กกต.จังหวัดที่รับสมัคร ตรวจสอบโดยเพียงแต่ได้ส่งหนังสือไปยังสำนักงานพาณิชย์จังหวัด เพื่อขอตรวจคุณสมบัติของผู้สมัครที่มีหุ้นในบริษัท และเมื่อสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ได้ส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นและรายการในหนังสือรับรองของบริษัทเท่านั้น หลักฐานเพียงเท่านี้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งจังหวัดจึงได้มีคำสั่งว่าผู้สมัครไม่มีคุณสมบัติตามกฎหมายจึงสั่งประกาศไม่รับสมัคร

ซึ่งผู้สมัครจึงได้ทำการยื่นคำร้องชี้แจงต่อศาลฎีกาโดยผ่านการไต่สวนจากศาลจังหวัดที่สมัครโดยยืนยันว่าเป็นเพียงวัตถุประสงค์ของบริษัทเท่านั้น ไม่ได้ประกอบกิจการโรงพิมพ์ รับหนังสือพิมพ์ พิมพ์ หรือจำหน่ายและออกหนังสือพิมพ์เลยและ/หรือไม่ว่าจะได้รับใบอนุญาตให้เปิดสถานีวิทยุชุมชนหรือขอใบอนุญาตแต่อย่างใด พร้อมแนบหลักฐาน
-คำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและหรือภ.พ.01
-รายงานของผู้สอบบัญชี,
-งบแสดงฐานะทางการเงินของบริษัท,
-หลักฐานการเสียภาษี เป็นต้น

แต่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่าเพียงเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการโรงพิมพ์รับพิมพ์หนังสือพิมพ์หนังสือจำหน่ายและจำหน่ายหนังสือพิมพ์ก็พิพากษาว่าขาดคุณสมบัติผู้สมัครแล้ว

ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งไม่ได้หยิบยกเรื่องงบการเงินหรือรายได้ของบริษัทมาประกอบการพิจารณาแต่อย่างใด

เมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ศาลต้องปฏิบัติหน้าที่ตาม “หลักนิติธรรม” ที่กำเนิดของกฎหมายจะต้องมีรากเหง้ามาจากความยุติธรรม ที่บุคคลต้องได้รับความเป็นธรรมจากกฎหมาย และถูกบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคกัน

ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คดี 32 ส.ส. ณ ขณะนี้และที่จะตามมาอีก จะเป็นสิ่งพิสูจน์ หลักนิติธรรม ที่ว่า “บุคคลทุกคนจะได้รับความเป็นธรรมจากกฏหมาย และอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน” หรือไม่อย่างไร