นายกฯสภา มธ. เผย วิวัฒนาการ 87 ปี ประชาธิปไตย หญิงไทยเลือกตั้งก่อน สวิสฯ 39 ปี

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง พัฒนาการประชาธิปไตยแบบไทยไทย โดย ศ.พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ศ.พิเศษ นรนิติ กล่าวว่า วิวัฒนาการ 87 ปี ของประชาธิปไตย นับจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ทำให้ราษฎรมีการอภิวัฒน์ ได้รับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

“หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 3 วัน มีรัฐธรรมนูญ มาตรา 14 ระบุว่าราษฎรที่บรรลุนิติภาวะ ไม่ถูกห้ามด้วยคุณสมบัติเลือกตั้ง มีสิทธิไปเลือกผู้แทน เขียนเท่านี้ อธิบายสิ่งสำคัญที่สุดของประชาธิปไตยเอาไว้คือ ‘เสมอภาคและเสรีภาพ’ ว่าด้วยสิทธิทางการเมือง ก้าวหน้ามาก ผู้หญิงไทยมีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งเร็วกว่าสวิสฯ 39 ปี สิ่งที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด รัฐธรรมนูญเขียนว่า ‘อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย’ หลังจากนั้นเปลี่ยนเป็น ‘อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย’ คนเท่ากัน มีสิทธิ เสรีภาพ แต่ปัญหาคือใครจะเป็นคนกำหนดว่าประชาชนจะเข้ามาเป็นผู้ปกครองวิธีใด เพราะราษฎรทั่วไปศักดินาไม่มี ไม่มีความรู้มาก นี่คือการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ทำให้ราษฎรเป็นใหญ่ แต่เป็นใหญ่เฉพาะตอนเลือกตั้ง”

ศ.พิเศษ นรนิติ กล่าวว่า สภาแรกเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ เพราะมีคนคิดจะทำกบฏ แย่งอำนาจ เกิดกบฏบวรเดช กบฏนายสิบ ต่อมาปี 2480 มีการเลือกตั้งที่ปรับให้คนมีบทบาทมากขึ้น เลือกตั้งโดยตรง ปี 2489 สมาชิกสภาที่มาจากการแต่งตั้ง เสนอให้แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อยกเลิกผู้แทน ที่มาจากการแต่งตั้ง แต่ให้มี 2 สภาแทน ทำให้ราษฎรมีอำนาจมากขึ้น แต่เฉพาะวันเลือกตั้งเพราะหลังจากนั้นเป็นอำนาจของผู้แทน ในปี 2498 มีกฎหมายพรรคการเมืองครั้งแรก ก่อนปี 2500 มีการไฮปาร์คที่สนามหลวง ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมฟัง แต่ไม่เป็นรูปเป็นร่างเท่าการที่นิสิตนักศึกษา และประชาชนในกรุงเทพฯ รวมตัวประท้วงรัฐบาลว่าจัดการเลือกตั้งสกปรก การประท้วงทำให้รัฐบาลเสื่อมความนิยม จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจซ้ำ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และจัดการเลือกตั้งในปี 2512 ฝ่ายจอมพลถนอม กิตติขจร ไปตั้งพรรคสหประชาไทย และยึดอำนาจ

ต่อมาเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นิสิตนักศึกษาชนะมีบทบาทสำคัญ นักศึกษาได้รับการยอมรับและไว้วางใจจากผู้ใหญ่ที่ไม่พอใจรัฐบาล เริ่มเรียกร้องโดยสันติวิธี จนนำไปสู่เหตุการณ์ที่เลือดตกยางออก เป็นแรงขับเคลื่อนให้ประชาชนที่วางตัวเฉยมาสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

“กรณีนี้มีความสำคัญ ถ้าหากอ่านหนังสือเกี่ยวกับกรรมกรและชาวนา จะถือว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ สามารถปลดล็อกบางอย่าง สามารถล้มคณะทหารเดิม ค่าแรงกรรมกรที่ถูกตรึงไว้ได้รับการปลดล็อกหลัง 14 ตุลาฯ เพราะนักศึกษาและขบวนการกรรมกรและชาวนาเป็นพันธมิตรกัน การเปลี่ยนแปลงนี้ได้ผลกับคนที่อยู่ระดับล่างทางเศรษฐกิจ แต่ 3 ปีต่อมานักศึกษาได้รับความพ่ายแพ้ จากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 ต่อมามีการประท้วงพฤษภาทมิฬ ที่ราชดำเนินกลาง ในปี 2535 กลุ่มพันธมิตรฯ ชุมนุมยึดทำเนียบรัฐบาล ปี 2548 ยึดสนามบิน เป็นการประท้วงที่คนมีส่วนร่วมมากกว่าทุกครั้ง มาถึงทุกวันนี้ 87 ปี ถ้าดูทีละทอดจะเห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลง จริงอยู่ว่าบางครั้งอาจจะเดินหน้าและถอยหลัง แต่ก็มีความเปลี่ยนแปลง” ศ.พิเศษ นรนิติกล่าว

มติชนออนไลน์