“เกษียร” ซัด “หมอวรงค์” อธิบาย “อภิวัฒน์สยาม 2475” ไม่ชัด เล่ารปห. 2 ครั้งปี 2476 แบบกึ่งสุกดิบ

เกษียร เตชะพีระ

วันที่ 25 มิถุนายน 2562 ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว โต้แย้งความคิดเห็นของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ที่ออกมาโจมตีจุดยืนของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในการสานต่อภารกิจของคณะราษฎร และกล่าวหานายธนาธรบิดเบือนประวัติศาสตร์เหตุการณ์อภิวัฒน์สยาม   24 มิถุนายน 2475 พร้อมเสนอประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรในมุมมองของนพ.วรงค์ ก่อนสรุปตอนจบว่าคณะราษฎรต้องแย่งชิงอำนาจกันเองนั้น

ศ.ดร.เกษียรระบุว่า หมอวรงค์ ไม่อธิบายข้อเท็จจริงประวัติศาสตร์ ๒๔๗๕ ให้ชัดเจน ชี้รัฐประหาร ๒ ครั้งปี ๒๔๗๖ เป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายอภิวัฒน์กับฝ่ายโต้อภิวัฒน์

หมอวรงค์บรรยายเหตุการณ์ช่วงต่อเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ อย่างอ้ำ ๆ อึ้ง ๆ กึ่งสุกกึ่งดิบนะครับ ในประเด็นต่อไปนี้:

๑) หมอวรงค์: “วันที่ 1 เมษายน 2476 นายกรัฐมนตรีขณะนั้นได้ประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญเกือบทุกมาตรา เท่ากับเป็นการยึดอำนาจตนเอง”

นายกรัฐมนตรีขณะนั้นคือพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้ออกพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฏรและตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่โดยงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา อันเป็นการขัดฝืนแย้งกับการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญที่เพิ่งสร้างขึ้น

พระยามโนปกรณ์นิติธาดานั้นไม่ใช่สมาชิกคณะราษฎรมาแต่ต้น หากเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ที่คณะราษฎรเชิญมาเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อความปรองดองหลังการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ และเห็นแตกต่างกับหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (อ.ปรีดี พนมยงค์ แกนนำฝ่ายพลเรือนของคณะราษฎร) เกี่ยวกับแนวทางเค้าโครงเศรษฐกิจที่อ.ปรีดีเสนอ นี่เป็นมูลเหตุที่นำไปสู่ความขัดแย้งแตกแยกในคณะราษฎรและสภาผู้แทนราษฎร จนกระทั่งฝ่ายนายกฯพระยามโนปกรณ์นิติธาดาใช้มาตรการที่มิได้อาศัยอำนาจในรัฐธรรมนูญดังกล่าวเพื่อกดปราบฝ่ายอ.ปรีดี จนอ.ปรีดีถูกกดดันให้เดินทางออกนอกสยามไปดูงานต่างประเทศด้วยทุนรัฐบาลโดยไม่มีกำหนดกลับ

๒) หมอวรงค์: “วันที่ 20 มิถุนายน 2476 ก็มีการยึดอำนาจเกิดขึ้น แต่โดยอีกฝ่ายหนึ่ง”

ในเวลาไม่นาน สถานการณ์ความขัดแย้งก็คลี่คลายไปจนประจักษ์ชัดขึ้นว่าการขัดแย้งแตกแยกขยายตัวเข้าไปในกองทัพ และมีความพยายามจะกำจัดอำนาจทางทหารบกของคณะราษฎร พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร กับ พันโทหลวงพิบูลสงคราม แกนนำนายทหารบกชั้นผู้น้อยของคณะราษฎรและสมัครพรรคพวก “จึ่งพร้อมใจกันเข้าจัดการให้คณะรัฐมนตรีชุดซึ่งไม่บริหารราชการแผ่นดินตามหน้าที่ด้วยความไว้ใจของสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญลาออกจากตำแหน่งทั้งคณะ” (อ้างจาก พรบ.นิรโทษกรรมในการจัดการให้คณะรัฐมนตรีลาออกเพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๔๗๖)

๓) หมอวรงค์: “จะเห็นได้ว่าเมื่อคณะราษฎรได้อำนาจมา ก็จบด้วยการแย่งชิงอำนาจกันเอง นำไปสู่การรัฐประหารที่ต่อเนื่องมา เพราะแย่งชิงอำนาจ ซึ่งต่างจากการรัฐประหารสองครั้งสุดท้ายในประเทศ ที่มีมวลชนสนับสนุน ดังนั้นการรัฐประหารที่เกิดขึ้นตามมา ก็คือผลพวงของการแย่งชิงอำนาจในอดีตของคณะราษฎร”

การรัฐประหาร ๒ ครั้งในปี ๒๔๗๖ เกิดขึ้นจากความขัดแย้งด้านแนวทางบริหารจัดการเศรษฐกิจที่นำเสนอโดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม และขยายตัวออกไปเป็นการพยายามโต้อภิวัฒน์เพื่อลบล้างอำนาจคณะราษฎรที่เพิ่งทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาไม่ทันครบขวบปี

ในที่สุดเชื้อมูลความขัดแย้งนี้นำไปสู่เหตุการณ์กบฎบวรเดชในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ที่คณะกู้บ้านกู้เมืองยกทัพจากหัวเมืองมากรุงเทพฯและรบกับทหารฝ่ายรัฐบาลคณะราษฎรที่มีพระยาพหลฯเป็นนายกฯ ในการต่อสู้ครั้งนั้น มีหลักฐานว่ามวลชนพากันบริจาควัตถุปัจจัยอาหารข้าวของสนับสนุนทหารฝ่ายรัฐบาลมากมายปรากฏเป็นหลักฐานบันทึกไว้ในราชกิจจานุเบกษา

ส่วนรัฐประหารสองครั้งสุดท้ายในประเทศไทย (ของคปค.เมื่อปี ๒๕๔๙ และ คสช.เมื่อปี ๒๕๕๗) นั้น มีมวลชนสนับสนุนส่วนหนึ่ง แต่ก็มีมวลชนส่วนอื่นคัดค้าน เหตุการณ์สืบเนื่องหลังจากนั้นสะท้อนให้เห็นว่ามีมวลชนและแกนนำที่เคยสนับสนุนการรัฐประหารเกิดความขัดแย้งแตกแยกและเปลี่ยนท่าทีไปคัดค้านการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารด้วยเช่นเดียวกัน)

ทั้งนี้ ศ.ดร.เกษียรระบุว่า สำหรับผู้สนใจศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม โปรดอ่านงานต่อไปนี้ได้ครับ
-ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, ๒๔๗๕ และ ๑ ปีหลังการปฏิวัติ,
http://www.openbase.in.th/files/tbpj002.pdf
-“11 ต.ค. 2476 : เกิด “กบฏบวรเดช” สู่บทบาทพลเมืองบริจาคแหวนวิวาห์หนุนรัฐรักษารัฐธรรมนูญ” https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_21075
-“บทบาทพลเมืองสยามในการปราบกบฎบวรเดช ๒๔๗๖” ซึ่งอิงบทความประวัติศาสตร์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ของ อ.ณัฐพล ใจจริง https://www.silpa-mag.com/history/article_3227
-“กบฎบวรเดช” ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า http://wiki.kpi.ac.th/index.php…

https://www.facebook.com/kasian.tejapira/posts/10219455603163644