“หมอวรงค์” จวก “ธนาธร” บิดเบือนประวัติศาสตร์ 2475 ชี้ คณะราษฎร จบด้วยแย่งอำนาจกันเอง

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก วิจารณ์ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ระบุว่า

บิดเบือนประวัติศาสตร์ ผมเห็นคุณธนาธรประกาศ การสานต่อภารกิจที่ยังไม่สำเร็จของคณะราษฎร แต่คุณธนาธรก็ไม่พูดความจริงตามประวัติศาสตร์ เพียงแต่จะพูดในสิ่งที่อยากพูด และนำไปเชื่อมโยง สู่ความชิงชังในสังคม เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง โดยไม่สนใจผลกระทบตามมา

สิ่งที่เราควรรู้คือ คณะราษฎร เปลี่ยนแปลงการปกครอง24 มิถุนายน 2475 เพื่อให้พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ไม่มีเจตนาล้มสถาบัน และมีการพระราชทานรัฐธรรมนูญตามมา โดยมีหลักการของคณะราษฎร 6 ข้อคือ

1. หลักเอกราช จะรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย
2. หลักความปลอดภัย จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ
3. หลักเศรษฐกิจ จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ในทางเศรษฐกิจ
4. หลักเสมอภาค จะให้ราษฎรมีสิทธิเสมอหน้ากัน ไม่ให้ผู้ใดมีสิทธิเหนือผู้อื่น
5. หลักเสรีภาพ จะให้ราษฎรมีอิสระที่จะใช้สิทธิ ผู้ใดจะบังคับมิได้
6. หลักการศึกษา จะให้การศึกษาแก่ราษฎรอย่างทั่วถึง

นี่คือภารกิจหลักของคณะราษฎรที่คุณธนาธรต้องสานต่อไม่ใช่อ้างแต่ประชาธิปไตย ที่มีความหมายไม่ตรงกัน

ต่อมาคณะราษฎรก็ได้ออกพระราชกำหนดขอพระราชทานอภัยโทษแก่คณะทั้งหมด ในวันที่ 26 มิถุนายน 2475

ในช่วงเริ่มต้น คณะราษฎรก็เป็นผู้แต่งตั้งผู้แทนราษฎรทั้งหมด 70 คน หลังจากนั้นจึงให้มีการเลือกตั้ง แต่ก็มีชุดแต่งตั้งเท่ากับจำนวนเลือกตั้ง จนกว่าประชาชนเรียนจบชั้นประถมศึกษาครึ่งหนึ่งของประเทศ แต่ไม่เกิน 10 ปี จึงให้มีการเลือกตั้งทั้งหมด

วันที่ 1 เมษายน 2476 นายกรัฐมนตรีขณะนั้นได้ประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญเกือบทุกมาตรา เท่ากับเป็นการยึดอำนาจตนเอง

วันที่ 20 มิถุนายน 2476 ก็มีการยึดอำนาจเกิดขึ้น แต่โดยอีกฝ่ายหนึ่ง

จะเห็นได้ว่าเมื่อคณะราษฎรได้อำนาจมา ก็จบด้วยการแย่งชิงอำนาจกันเอง นำไปสู่การรัฐประหารที่ต่อเนื่องมา เพราะแย่งชิงอำนาจ ซึ่งต่างจากการรัฐประหารสองครั้งสุดท้ายในประเทศ ที่มีมวลชนสนับสนุน ดังนั้นการรัฐประหารที่เกิดขึ้นตามมา ก็คือผลพวงของการแย่งชิงอำนาจในอดีตของคณะราษฎร

นี่คือความจริงในประวัติศาสตร์ที่คุณธนาธรไม่พูดถึง ขอย้ำว่าเราต้องศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้า ไม่ใช่เพื่อสร้างความแตกแยกและชิงชัง และโปรดทราบด้วยว่าคณะราษฎรใช้คำว่าราษฎร ไม่ใช่คำว่าพลเมือง เพราะคำว่าพลเมือง เป็นคำที่ใช้ในยุคปฏิวัติฝรั่งเศส

มติชนออนไลน์