ถกข้อบังคับส.ว. รุมซัด กมธ.แก้ยากจน-ลดความเหลื่อมล้ำ ชี้ อำนาจล้น หวั่นทับซ้อนชุดอื่น

ถกข้อบังคับส.ว. รุมซัด กมธ.ชื่อ “แก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ” ชี้ อำนาจล้น หวั่นทับซ้อนกับกมธ.ชุดอื่น

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่หอประชุมทีโอที ถ.แจ้งวัฒนะ มีการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานในการประชุม เพื่อพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. …. โดยมีประเด็นสำคัญที่สมาชิกถกเถียงกันมากในหมวด 4 ว่าด้วยกรรมาธิการ โดยมี ส.ว. นำโดย นายกล้านรงค์ จันทิก ส.ว. นายตวง อันทะไชย ส.ว. ได้ลุกขึ้นอภิปรายไม่เห็นด้วยที่จะมีคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ เพราะเห็นว่า มีอำนาจหน้าที่มาก จนครอบคลุมไปเกือบทั้งหมดของคณะกรรมาธิการชุดอื่นๆ และจะกลายเป็นปัญหาทับซ้อนในการทำงานขึ้นในอนาคต ดังนั้น ควรจะแยกออกไปตั้งเป็นกรรมาธิการวิสามัญแทนจะดีกว่าหรือไม่ นอกจากนี้ นายตวง ยังไม่เห็นด้วยที่กรรมาธิการบางคณะล็อคเอาไว้ว่า ให้รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 เป็นประธาน ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาขึ้นในอนาคตว่า ทำไมถึงไม่ให้สมาชิกหรือคนที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ในเรื่องนั้นๆ โดยเฉพาะเข้าไปเป็นประธานกรรมาธิการ

ด้าน นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ส.ว.ในฐานะ คณะกรรมการร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. …. ชี้แจงว่า ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำนั้นเป็นปัญหาใหญ่และเร่งด่วนที่สุด การตั้งคณะกรรมาธิการการนี้เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้ประชาชนเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของเราที่มีความห่วงใย กังวลใจ และไม่เพิกเฉยต่อคน 90% ของประเทศ โดยหลักคิดในการตั้งคณะกรรมาธิการฯ ชุดดังกล่าวนั้น เป็นการคิดแบบบูรณาการ ซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหามีลักษณะบูรณาการ ไม่ใช่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งมารับผิดชอบปัญหานี้ อาทิ เรื่องการศึกษา คณะกรรมาธิการ คณะนี้จะเข้าไปดูในเรื่องของความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา แต่จะไม่เข้าไปยุ่งในเรื่องของหลักสูตรการเรียนการสอนต่างๆ เป็นต้น ซึ่งจะถือเป็นก้าวที่ 1 ของรัฐสภาไทย

จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการในวาระแรกด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 194 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 3 เสียง

สำหรับร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ในหมวด 4 ที่ว่าด้วยกรรมาธิการนั้น กำหนดให้มีจำนวน 26 คณะ โดยมี 22 คณะที่เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมส.ว.เดิม โดยมี 4 กรรมาธิการที่ตั้งขึ้นใหม่ประกอบด้วย 1.กรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ 2.กรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน 3.กรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ 4.กรรมาธิการกิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีกรรมาธิการวิสามัญอีก 2 คณะด้วยคือ กรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) และกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีหมวดว่าด้วยภารกิจด้านการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ โดยกำหนดให้เป็นกรรมาธิการสามัญ ซึ่งตามร่างข้อบังคับกำหนดให้รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1เป็นประธาน และมีกรรมาธิการซึ่งประกอบด้วย ประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามเสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ ในกรรมาธิการสามัญ และส.ว.อีก 5 คนซึ่งที่ประชุมวุฒิสภาเป็นผู้เลือกด้วย

มติชนออนไลน์