แคร์รี่ หล่ำ ผู้นำฮ่องกงผู้ภักดีจีนแผ่นดินใหญ่

แคร์รี่ หล่ำ ผู้บริหารหญิงแห่งเขตปกครองพิเศษฮ่องกง วัย 62 ปี สร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้หญิงคนแรกที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของเกาะฮ่องกง หลังได้รับเลือกเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมีนาคมปี 2017

ทว่า การได้รับเลือกจากคณะกรรมการที่เต็มไปด้วยสมาชิกที่ภักดีกับจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้เธอไม่เป็นที่ยอมรับจากประชาชนชาวฮ่องกงมากนัก นั่นทำให้หล่ำประกาศที่จะตอบสนองกับความต้องการของ “กลุ่มคนรุ่นใหม่” กลุ่มคนซึ่งมีความกระตือรือร้นทางการเมืองและออกมาเรียกร้องเพื่อให้ฮ่องกงมีเสรีภาพและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

“ฮ่องกง บ้านของเรา กำลังต้องทนทุกข์อย่างหนักจากความแตกแยก และความผิดหวังก็เริ่มสะสมมากขึ้น” หล่ำระบุในสุนทรพจน์รับตำแหน่งเป็นครั้งแรก และว่า สิ่งแรกที่เธอจะให้ความสำคัญก็คือ การสมานความแตกแยกดังกล่าว

2 ปีผ่านไปคำมั่นสัญญาของเธอดูเหมือนจะเป็นจริงเมื่อชาวฮ่องกงจำนวนมากต่าง “รวมใจเป็นหนึ่ง” ออกมาเดินขบวนประท้วงกดดันให้นางหล่ำลาออกจากตำแหน่ง ผลจากความพยายามของรัฐบาลในการผ่านกฎหมายเปิดทางให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ได้

คำมั่นสัญญาในการฟังเสียงประชาชน ถูกทำลายลงด้วยการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมแก๊สน้ำตา สเปรย์พริกไทย และรถฉีดน้ำแรงดันสูง ลงพื้นที่สลายการชุมนุม ซึ่งนับเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปีของฮ่องกง

การชุมนุมซึ่งสะท้อนความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อการบริหารงานของรัฐที่มีความฝักใฝ่จีนแผ่นดินใหญ่มากจนเกินไป

 

นางหล่ำไม่เป็นที่ไว้ใจจากประชาชนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เนื่องจากเธอเคยเป็นรองผู้บริหารในยุครัฐบาลนายเหลียง เจิ้น อิง ผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกงคนก่อน ที่ก็เป็นยุคที่เกิดการประท้วง “ขบวนการร่ม” การประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของฮ่องกงเมื่อปี 2014 ด้วยเช่นกัน

กระแสความไม่พอใจของประชาชนสะท้อนจากวาทกรรมโจมตี ด้วยการตั้งฉายาต่างๆ นานา เช่น ฉายา “แม่นม” ฉายาที่ได้มาจากการเป็นหญิงคนสนิทกับอดีตผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกงคนเก่า

ไม่เว้นแม้แต่ฉายาสองแง่สองง่ามเจ็บแสบอย่าง “777” ฉายาจากจำนวนคะแนนเสียงสนับสนุนจากคณะกรรมาธิการฝักใฝ่จีน ผู้เลือกผู้นำฮ่องกงที่มีจำนวนทั้งหมด 1,194 คน ที่เลือกนางหล่ำเป็นผู้นำฮ่องกงเมื่อปี 2017 และ 777 เมื่อออกเสียงในภาษีจีนกวางตุ้งแล้วก็จะมีเสียงใกล้เคียงกับอวัยวะเพศชาย

ความนิยมสะท้อนออกมาเป็นตัวเลขเมื่อผลการสำรวจความนิยมของนางหล่ำ จัดทำโดยมหาวิทยาลัยฮ่องกง ก่อนหน้าที่จะเกิดการประท้วงในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฏว่าสัดส่วนผู้ที่ยอมรับผลงานของนางหล่ำมีเพียง 32 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่สัดส่วนผู้ไม่ยอมรับมีมากถึง 57 เปอร์เซ็นต์

นับสัดส่วนคะแนนนิยมหลังดำรงตำแหน่ง 2 ปีของผู้นำฮ่องกงที่ตกต่ำที่สุดนับตั้งแต่อังกฤษส่งฮ่องกงคืนให้กับจีนเลยทีเดียว

และแน่นอนว่าผู้บริหารฮ่องกงก่อนหน้านี้ 3 คนไม่เคยมีใครมีคะแนนนิยมตกต่ำหลังดำรงตำแหน่งผ่านไป 2 ปีได้เท่ากับหล่ำอีกแล้ว

 

“แคร์รี่ หล่ำ” เกิดในครอบครัวรายได้น้อย แต่ก็เริ่มโดดเด่นตั้งแต่เรียนในโรงเรียนคริสต์ จนสามารถคว้าทุนรัฐบาลเรียนต่อได้ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ

หล่ำเริ่มอาชีพข้าราชการในยุคที่อังกฤษยังคงเป็นเจ้าอาณานิคม ก่อนจะไต่เต้าในตำแหน่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ในยุคหลังจากอังกฤษส่งมอบฮ่องกงคืนให้จีน จนได้รับชื่อเสียงในฐานะ “นักสู้” และ “ผู้ภักดีกับรัฐบาลจีน”

ในช่วงการประท้วงของ “ขบวนการร่ม” หล่ำมีบทบาทในฐานะตัวแทนของรัฐบาลในการเจรจา และดีเบตกับผู้นำประท้วง และเป็นผู้ยืนยันชัดเจนว่า ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่ต้องการให้มีการเลือกตั้งผู้นำฮ่องกงโดยตรงนั้น “เป็นไปไม่ได้”

หลังหล่ำได้รับเลือกเป็นผู้นำฮ่องกงในอีก 3 ปีต่อมา หล่ำระบุว่า เธอหวังจะทิ้งความขมขื่นทางการเมืองในเวลานั้นเอาไว้ข้างหลัง

ความเข้มข้นทางการเมืองในช่วงเวลานี้ส่งผลกระทบกับผู้นำหญิงคนนี้อย่างยิ่งที่มักจะไม่ค่อยแสดงอารมณ์ต่อที่สาธารณะเท่าไรนัก

ในการสัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวก่อนหน้าที่จะเกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ประท้วง เมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา ปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าเธอกำลังขายฮ่องกงให้กับจีน โดยหล่ำระบุถึงสิ่งที่เธอต้องแลกมาในการทำงานเป็นผู้นำฮ่องกงทั้งน้ำตา

“ความรักที่ฉันมีต่อที่แห่งนี้ทำให้ฉันต้องเสียสละหลายสิ่งหลายอย่าง” หล่ำระบุด้วยน้ำตาคลอเบ้า

ทว่า บ่ายในวันเดียวกันหลังเกิดการปะทะรุนแรงขึ้น หล่ำก็กลับมายืนหยัดอย่างเด็ดเดี่ยวเช่นเคยว่า

“การประท้วงครั้งนี้ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ แต่เป็นการจลาจลที่มีการจัดตั้ง”