“ประยุทธ์” ลั่นดัน RCEP ให้ทันสิ้นปี ปลุกศก.อาเซียนรับมือดิสรัปชั่น

ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ลงนามผนึกกำลังความร่วมมือ 5 ฉบับ ขณะที่ ASEAN BAC ชงยกเครื่องทักษะแรงงานรับมือเทคโนโลยีดิสรัปชั่น ก่อนแรงงานอาเซียนตกงานกว่า 28 ล้านคนในปี’73 พร้อมเร่งสรุปความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ให้ได้ภายในสิ้นปีนี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “The Future of Thailand and ASEAN” ในการประชุม “ASEAN Business Summit 2019” ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมานี้ ไทยจะเดินหน้าพัฒนาประเทศไปสู่ความก้าวหน้าพร้อมกับภูมิภาค ขณะที่ไทยยังจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เอื้อต่อการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมและรองรับอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการเป็นระเบียงเศรษฐกิจแห่งเอเชีย โดยรัฐบาลไทยได้ผลักดันการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการผลิต การค้าและการลงทุนในภูมิภาค และยังเตรียมที่จะประยุกต์ใช้กับพื้นที่อื่นในประเทศด้วย

ทั้งนี้อาเซียนเป็นตลาดขนาดใหญ่อันดับ 6 ของโลก มีประชากรกว่า 650 ล้านคน มีความหลากหลายและเป็นจุดยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศสำคัญในการที่จะพัฒนาไปเป็นกลุ่มเศรษฐกิจ ที่ใหญ่เป็นลำดับที่ 4 ของโลกภายในปี 2573 “ได้ไม่ยากนัก” นอกจากนี้อาเซียนยังมีจุดแข็ง อย่างเช่น ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ระหว่าง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนและอีก 6 ประเทศคู่เจรจา “ผมคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้” โดย RCEP จะเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกคือ GDP รวมกันเท่ากับ 1 ใน 3 ของ GDP โลกด้วย ขณะที่หลายประเทศสมาชิกอาเซียนก็เป็นส่วนหนึ่งของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)

ส่วนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของอาเซียนจะมีเป้าหมาย 3 ด้าน ซึ่งไทยต้องการผลักดันให้เป็นรูปธรรมภายในปี 2562 ได้แก่ 1) การมุ่งสู่อนาคตคือความพร้อมในการเข้าสู่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม 2) ส่งเสริมความเชื่อมโยงการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว และระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียนให้ครบทั้ง 10 ชาติ และ 3) สร้างความยั่งยืนในทุกมิติ

โดยในการประชุมระดับสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 34 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพในวันที่ 23 มิถุนายนนี้ ผู้นำอาเซียนมีกำหนดจะต้องลงนามในเอกสาร 5 ฉบับ 1) วิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเป็นการยืนยันเจตนารมณ์ของผู้นำอาเซียนในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 2) เอกสารมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก ซึ่งระบุถึงวัตถุประสงค์ หลักการ สาขาความร่วมมือ และกลไกที่จะใช้ผลักดันมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก ซึ่งจะเปิดกว้างให้ทุกคนเข้าร่วม

3) แถลงการณ์ของประธานการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 34 ที่เป็นการสรุปประเด็นหารือระหว่างผู้นำเข้าและประเด็นต่าง ๆ ที่มีความสำคัญต่ออาเซียน รวมถึงผลการปฏิบัติงานของอาเซียน ซึ่งไทยต้องออกในฐานะประธานการประชุม 4) ปฏิญญากรุงเทพฯว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน และ 5) แถลงการณ์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน 2562

ในส่วนของสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน-ประเทศไทย (ASEAN BAC) ได้จัดให้มีการสัมมนา เรื่อง “Symposium on ASEAN Human Empowerment And Development” หรือ “AHEAD” เพื่อจัดทำแนวทางการพัฒนาแรงงานมีทักษะและผู้ประกอบวิชาชีพรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ 4IR

ด้านนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานการประชุม AHEAD ว่า ภาคอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ตามเทรนด์การเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรม 4.0 (4IR) ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของ 6 ตลาดใหญ่อาเซียนเติบโตเป็น 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 จากปัจจุบันที่มูลค่า 50,000 ล้านเหรียญ หรืออาเซียนจะกลายเป็นภูมิภาคที่มีขนาดเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่ที่สุดติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก แต่อีกด้านหนึ่งแรงงานอาเซียนประมาณ 28 ล้านคนอาจจะได้รับผลกระทบนี้ในปี 2573 ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเร่งยกระดับคุณภาพและทักษะแรงงานอาเซียนเพื่อรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

โดยการฝึกอบรมและให้ความรู้ด้านเทคนิค ซึ่งต้องนำผลการแลกเปลี่ยนความเห็นในวันนี้ไปใช้ประกอบการจัดทำแนวทางการพัฒนาทักษะแรงงานรับมือกับ 4IR และเสนอต่อรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนให้ความเห็นชอบและเสนอผู้นำอาเซียนต่อไป

ขณะที่นายอรินทร์ จิรา ประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจ อาเซียน-ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรม ภาคบริการ และการค้า นำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้มากขึ้น หากไม่มีการพัฒนาแรงงาน เพื่อสอดรับกับเทคโนโลยีใหม่อาจทำให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้รับผลกระทบ ในส่วน ASEAN BAC จะนำหัวข้อนี้เข้าไปหารือในการประชุมอาเซียนด้วย เพื่อให้ประเทศสมาชิกตระหนักถึงความสำคัญ และมุ่งไปพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้สอดรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีการพัฒนาแรงงานให้เข้ากับกลุ่มอุตสาหกรรม 4.0 เพียง 2% น้อยมากหากเทียบกับการพัฒนาให้ทันกลุ่มอุตสาหกรรม 3.0 ซึ่งมี 28% หรือกลุ่ม 2.0 ซึ่งมีมากถึง 61% ก็ตาม สะท้อนว่าอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วสวนทางกับการพัฒนาฝีมือแรงงาน

“สงครามการค้ายังเป็นประเด็นสำคัญที่อาจนำเข้าไปพูดคุย หากยังไม่ได้รับการแก้ไขอาจกระทบการส่งออกในระยะยาว โดยเฉพาะประเทศไทย แม้ในระยะสั้นจะบอกว่าในบางอุตสาหกรรมได้ผลบวก แต่ในระยะยาวหากมีการไหลเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น อาจจะทำให้สหรัฐจับตาประเทศไทยหรือมีมาตรการทางการค้ากับประเทศไทยได้”

นอกจากนี้ ASEAN BAC จะหารือถึงแนวทางการลดการใช้มาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) ในกลุ่มอาเซียน เพราะจากการทำธุรกิจพบว่า ยังมีหลายประเทศมีการนำมาตรการ NTB มาใช้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นอุปสรรคการค้า ควรเร่งเพิ่มการอำนวยความสะดวกโดยเฉพาะเรื่องการค้าระหว่างชายแดน เพื่อผลักดันมูลค่าการค้าระหว่างกันให้เติบโตมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการพัฒนา smart city การค้าดิจิทัล ที่ต้องเร่งหารือเพื่อมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ และช่วยลดต้นทุนการค้าในอนาคต แต่ประเด็นนี้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังต้องร่วมกันผลักดัน

ขณะที่นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในการประชุมระดับสุดยอดผู้นำมีกำหนดจะหารือเพื่อผลักดันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็น 1 ใน 13 วาระ “ที่เราต้องพูดคุยกัน” เพื่อให้ข้อสรุปตามเป้าหมายในปีนี้ก่อนที่แต่ละประเทศจะต้องนำเข้าสู่กระบวนการภายในเพื่อเตรียมให้มีผลบังคับใช้