‘พปชร.’ ขอจำหน่ายคดี 27 ส.ส.ปมหุ้นสื่อ อ้าง อนค. ทำผิดรูปแบบ เหตุต้องส่ง ‘คำร้อง’ ดันส่ง ‘หนังสือ’

“พปชร.”ยื่นศาลรธน.ขอจำหน่ายคดี 27 ส.ส. ปมถือหุ้นสื่อ อ้าง 66  อนค. ทำผิดรูปแบบเป็นหนังสือ ทั้งที่ต้องเป็นคำร้อง พร้อมขอไต่สวน 2 ครั้ง ก่อนรับพิจารณาและสั่งยุติปฏิบัติหน้าที่  ชี้ ควรให้โอกาสผู้ถูกร้องนำหลักฐานเข้าสู้ เหมือน ”ธนาธร”

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายทศพล เพ็งส้ม หัวหน้าทีมต่อสู้คดีหุ้นสื่อ 27 ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้พิจารณาจำหน่ายคดีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งความเห็นของสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ให้วินิจฉัยว่า ส.ส.ทั้ง 27 คนของพรรคพปชร.ขาดคุณสมบัติ เนื่องจากถือหุ้นสื่อ และขอให้ศาลไต่สวนว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอและมีมูลที่จะรับไว้วินิจฉัยหรือไม่ และถ้าหากศาลไต่สวนและรับเรื่องไว้พิจารณา ขอให้ไต่สวนว่าควรจะสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ โดยให้โอกาส ส.ส.ผู้ถูกร้องแสดงพยานหลักฐาน

โดยนายทศพล กล่าวว่า จากการตรวจสอบสำนวนพบว่า 66 ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ที่ยื่นเรื่องนี้ต่อประธานสภาฯและประธานนำส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญมีการทำเป็นหนังสือ จึงไม่ถูกต้องตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดไว้ในมาตรา 7 (5) และมาตรา 41 ว่าหากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นส.ส.สิ้นสุดลง ต้องกระทำเป็นคำร้อง จึงเห็นว่าเมื่อการยื่นคำร้องไม่ถูกต้องตั้งแต่แรก ก็สมควรว่าศาลจะจำหน่ายคดี

นายทศพล กล่าวอีกว่า แต่ถ้าหากศาลเห็นว่า เรื่องดังกล่าวสามารถพิจารณาได้ก็ขอให้ศาลมีการไต่สวน 2 ครั้ง  โดยครั้งแรกเป็นการไต่สวนข้อเท็จจริงก่อนพิจารณาว่ารับหรือไม่รับ เพราะเรื่องนี้เป็นการยื่นมาโดยไม่มีหน่วยงานใดรวบรวมพยานหลักฐานมีเพียงเอกสาร ทั้งที่วัตถุประสงค์ในการจดทะเบียนบริษัทของ 27 ส.ส.พรรคพปชร.ไม่เหมือนกัน โดยที่ทั้ง 27 คนไม่ได้มีโอกาสชี้แจงแต่อยู่ๆก็มีคนเอาเอกสารมาแล้วบอกว่าคุณผิด ซึ่งต่างจากกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนค. ที่ถูกร้องซึ่งผ่านการชี้แจงโต้แย้ง และหอบเอกสารมาเป็นลัง กรณีดังกล่าวประชาชนไม่เข้าใจคิดว่าเหมือนกัน แต่จริงๆแล้วไม่เหมือนกัน เพราะกรณีของ 27 ส.ส.ไม่ได้ผ่านกระบวนสืบสวนสอบสวน รวบรวม พยานหลักฐาน และการชี้แจงไม่มีเลย เราจึงต้องการเพียงโอกาสในการชี้แจง และถ้าหากศาลไต่สวนและรับเรื่องไว้พิจารณา ก็ให้ไต่สวนอีกเพื่อให้พิจารณา ควรจะสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

“ที่ทางพรรคขอเช่นนี้เพราะ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 เพิ่งออกมาใหม่พร้อมกับรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ที่ผ่านมาใช้ข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้กำหนด แต่ครั้งนี้เป็นเรื่องของกฎหมายที่กำหนดวิธีพิจารณาคดีไว้ชัด ว่าอะไรที่ยื่นเป็นคำร้อง และอะไรยื่นเป็นหนังสือ ดังนั้น ถ้าเราบอกว่าการยื่นคำร้องมันผิดแล้วมีการพิจารณาไป คำวินิจฉัยก็จะผิด ดังนั้น เมื่อกระบวนการผิดก็ต้องทำให้มันถูกต้อง แต่ไม่ได้หมายความว่าทำอะไรไม่ได้เลย  และการขอไต่สวนก็เป็นการที่เราขอโอกาสพิจารณาคดีเหมือนของ ธนาธร เท่านั้นเอง” นายทศพล กล่าวและว่า คำร้องที่ทางพรรคพปชร.ยื่นจะมีผลเฉพาะตัวกับ 27 ส.ส.เท่านั้น ไม่ได้มีผลไปเอื้อให้กับ  ส.ส.รายอื่นที่ถูกร้อง แต่ไม่ได้ยื่นคำขอไต่สวนหรือคุ้มครอง เว้นแต่ในประเด็นข้อกฎหมายถ้าศาลบอกว่าผิด ก็จะผิดไปทั้งหมด

มติชนออนไลน์