“ยูเอ็น” เผยกว่า 70 ล้านชีวิตทั่วโลก ต้องลี้ภัยไร้ที่อยู่ วิกฤต “เอธิโอเปีย-เวนาซุเอลา” ทำเพิ่มขึ้น

วันที่ 19 มิถุนายน 2562 สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งองค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็นเอชซีอาร์ ได้เปิดเผยรายงานประจำปี ระบุว่า ในช่วงสิ้นปี 2018 มีจำนวนผู้อพยพลี้ภัยทั่วโลกเป็นจำนวน 70.8 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนคงที่ เพราะตัวเลขจำนวนผู้อพยพชาวเวเนซุเอลาที่หนีจากภาวะตกต่ำมีจำนวนต่ำกว่าประเมินไว้ หากเทียบกับจำนวนผู้ลี้ภัยเมื่อปีที่แล้ว มีผู้อพยพไร้ที่อยู่ 68.5 ล้านคน

ยูเอ็นเอชซีอาร์ ได้อธิบายจำนวนเพิ่มขึ้นนี้ว่า มาจากวิกฤตขัดแย้งทางเชื้อชาติในเอธิโอเปียและวิกฤตชาวเวเนซุเอล่าอพยพหนีภาวะเศรษฐกิจประเทศพังทลาย โดยนับตั้งแต่ปี 2559 มีชาวเวเนซุเอลาหนีจากประเทศตัวเองแล้วราว 3.3 ล้านคน

ในรายงานระบุแบ่งประเทศผู้ลี้ภัยไว้ว่า อยู่ในกลุ่มผู้ไร้ที่อยู่ในประเทศ 41.3 ล้าน ผู้อพยพลี้ภัย 25.9 ล้าน และผู้แสวงหาที่ลี้ภัย 3.5 ล้านคน โดยกลุ่มหลังอยู่ระหว่างรอผลการพิจารณาให้ได้รับความคุ้มครองผู้ลี้ภัย

ส่วนประเทศที่มีผู้ไร้ที่อยู่ในประเทศมากที่สุด ยังคงเป็นซีเรีย อันเป็นผลพวงจากสงครามกลางเมืองตั้งแต่ปี 2554 ตามด้วยโคลอมเบีย จากความขัดแย้งภายในที่ดำเนินยาวนานเป็นทศวรรษ

นายฟิลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ของยูเอ็นเอชซีอาร์ ระบุว่า ในจำนวนผู้ลี้ภัยเหล่านี้ มีถึง 20% ที่ต้องลี้ภัยมานานกว่า 2 ทศวรรษ ทำให้นายกรันดีถึงกับกล่าวว่า เรากำลังอยู่ในภาวะที่ยากจะเกิดสันติภาพได้ เพราะเป็นความจริงที่ว่าโลกได้มีความขัดแย้งรูปแบบใหม่ สถานการณ์ใหม่ที่ก่อเกิดผู้อพยพ แต่ปัญหาเก่าก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งต้องถามว่า ความขัดแย้งครั้งสุดท้ายที่เราจำได้ว่าแก้ไขแล้วนั้นเกิดขึ้นเมื่อไหร่ล่ะ?

อย่างไรก็ตาม ยูเอ็นเอชซีอาร์กล่าวว่า ในขณะที่ปัญหาผู้อพยพกำลังเป็นความท้าทาย แต่ก็มีบางประเทศสามารถจัดการได้ ซึ่งประเทศเยอรมนีถือเป็นประเทศที่มีความพยายามจัดการเรื่องนี้ แม้จำนวนจะมีมากมายมหาศาล

นายกรันดีกล่าวว่า ในกรณีเยอรมนีถือว่าต้องชมในการแก้ไขเรื่องดังกล่าว แม้ว่านางแองเกล่า แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีจะต้องชดเชยทางการเมืองด้วยราคาแพงต่อนโยบายเปิดกว้างต่อผู้อพยพ แต่สิ่งที่นางแมร์เคิลทำนั้นกล้าหาญกว่าใคร