‘เรืองไกร’ร้องอสส.ส่งศาล รธน.ชี้ถอนสรรหา194 ส.ว.ขัด รธน.–เลือก’นายกฯ’โมฆะ

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ เดินทางมายื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุด ขอให้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยสั่งการให้การกระทำของคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นอันใช้บังคับมิได้ โดยมีนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้แทนรับเรื่อง

นายเรืองไกร กล่าวว่า กรณีคำสั่ง คสช. ที่ 1/2562 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ไม่มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ชี้แจงว่าไม่ใช่เรื่องของประชาชน นายวิษณุเป็นมือกฎหมายที่มีอภินิหารเยอะ ขอชื่นชม แต่ที่อ้างว่าไม่ใช่เรื่องของประชาชนขอคัดค้านเต็มที่ เพราะอำนาจอธิปไตยฝ่ายนิติบัญญัติ การได้มาซึ่ง ส.ว. ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ อำนาจอธิปไตยเขียนชัดเป็นของปวงชนชาวไทย จะบอกไม่เกี่ยวกับประชาชนไม่ใช่ นายวิษณะเป็นนักกฎหมายมาตลอดชีวิตควรทบทวนคำพูด เรื่องนี้ ส.ส.จะเสนอเป็นญัตติเข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรด้วย

นายเรืองไกร กล่าวต่อไปว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 269 แยกเป็นสองส่วนคือ 1.ส่วนที่ให้ กกต.สรรหา 200 คนแล้วให้ คสช. เลือก 50 คน สำรอง 50 คน 2.ส่วนที่ให้คณะกรรมการสรรหา ส.ว. เลือก 400 คนแล้วให้ คสช. เลือก 194 คน กระบวนการตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัด คณะกรรมการสรรหา ส.ว. นั้น คสช.ต้องตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิและเป็นกลางทางการเมือง 9-12 คน มีปัญหา เพราะเปิดรายชื่อมาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปดำรงตำแหน่งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ได้อย่างไร ย่อมไม่เป็นกลาง

นายเรืองไกรกล่าวอีกว่า การคัดเลือกให้คณะกรรมการสรรหา ส.ว. ต้องกำหนดวิธีการแล้วจึงจะดำเนินการหาบุคคลได้ แต่เท่าที่ทราบเรื่องนี้ประชุมกันมา 6 ครั้ง 3 ครั้งเป็นทางการ อีก 3 ครั้งไม่เป็นทางการเพราะองค์ประชุมไม่ครบ มีครั้งหนึ่งไปประชุมที่มูลนิธิป่ารอยต่อ นั่นใช่สถานที่ราชการหรือ ไม่ควรจะไปอย่างนั้น การที่ไม่ประชุมตามขั้นตอน จึงไม่มีระเบียบคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ออกมาในราชกิจจาฯ ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ส่วนของ กกต. ตนไม่ท้วงเพราะทำถูก ออกระเบียบมาเกือบ 200 หน้า มี พ.ร.ฎ. แต่ในส่วน 194 คนไม่มีเลย จึงเรียกร้องให้อัยการสูงสุดต้องตรวจดู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ต้องรับผิดชอบ พล.อ.ประยุทธ์บอกเองบ้านเมืองต้องการให้เคารพกฎหมาย ตัวพล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องเคารพกฎหมาย การกระทำที่ไม่ชอบตามมาตรา 269 ทำให้เป็นอันใช้บังคับมิได้ แต่ไปร้องศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้ กฎหมายให้มาร้องอัยการสูงสุดก่อน

นายเรืองไกร กล่าวช่วงท้ายว่า ข้อมูลที่เรียนต่อสื่อฯ จะเป็นประโยชน์ต่อ ส.ส. ใช้อภิปรายด้วย พ.ร.ฎ. กับระเบียบ กกต. มี แต่ทำไมไม่มี พ.ร.ฎ.กับระเบียบในการเลือก ส.ว. 194 คนด้วย เทียบให้เห็นชัดเจน ปฏิบัติเป็นสองมาตรฐาน ทั้งที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนต้องทำให้เหมือนกัน จึงเรียนต่ออัยการสูงสุดเพื่อให้ดำเนินการไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยมีคำสั่งให้เพิกถอน 194 ส.ว. ออกไปเสีย เหลือแค่ 56 คน ก็เป็นวุฒิสภาได้ 194 คนก็ไปดำเนินการให้ถูกต้อง ส่วนที่เลือกนายกฯ มา ศาลรัฐธรรมนูญก็ควรวินิจฉัยให้เพิกถอนการคัดเลือกนายกฯ ตามไปด้วย เพราะเคยวินิจฉัยกรณีประธาน กกต. มาแล้ว ผู้ว่าฯ สตง. มาแล้ว หวังว่าศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้จะยึดเป็นบรรทัดฐานอันเดียวกัน

มติชนออนไลน์