คำต่อคำ พปชร.อีสาน-ใต้ ยอมถอย หลัง “บิ๊กตู่” ส่งคนเคลียร์ ปมขอเก้าอี้ รมต.

วันที่ 18 มิถุนายน ที่ห้องประชุมพหลโยธิน โรงแรมเซนทารา แกรนด์ ลาดพร้าว นายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ (พชปร.) นายวัฒนา ช่างเหลา ส.ส.ขอนแก่น พชปร. ในนามกลุ่ม ส.ส. อีสานตอนบน พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล แกนนำ ส.ส. ภาคใต้ พชปร. ในนามกลุ่ม “ด้ามขวานไทย” และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา ตัวแทนผู้ประสานงาน พชปร. แถลงข่าวในประเด็นที่กลุ่ม ส.ส.อีสานและ ส.ส.ใต้ เรียกร้องตำแหน่งรัฐมนตรี

@ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า 

ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าพรรคให้เป็นตัวแทนในการประชุมพูดคุยและจากการประชุมกว่า 2 ชั่วโมง ได้ข้อสรุปชัดเจนว่าตัวแทนทางใต้และทางอีสานตอนบน จะร่วมในการขับเคลื่อนนโยบาย ไปพร้อมกับรัฐบาล โดยมีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ และมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป โดยทางภาคใต้และอีสานตอนบน ไม่ได้เรียกร้องตำแหน่ง แต่เป็นห่วงในเรื่องจะทำอย่างไรกับปัญหาของประชาชนในฐานะที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ตอนนี้ความเป็นห่วงก็สบายใจขึ้น อย่างไรก็ตาม พรรคจะให้ พ.อ.สุชาติ ดูแลในเรื่องภาคใต้ ส่วนนายเอกราช และนายสุพล ฟองงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค พปชร.จะดูแลในส่วนของภาคอีสาน โดยให้เสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมในการรับตำแหน่งทางด้านการเมือง

ส่วนปัญหาภายในพรรค ที่ถูกมองว่าจะมีการแบ่งกลุ่มกันในพรรคอยู่นั้น เลขาธิการพรรค ได้หารือกับทางผู้นำในพรรค ได้ข้อสรุปชัดเจนในทิศทางเดียวกันว่า เราจะหารือกันบ่อยๆ ทั้งผู้ที่เป็น ส.ส.และผู้ที่สอบตก แต่ยังมีบทบาทในพื้นที่ ต่อไปจะมีการไปเยี่ยมในแต่ละภาคและจังหวัด ถือเป็นนโยบายหลักของ พชปร. ที่จะเดินไปในทิศทางเดียวกัน เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน จะไม่มีการแบ่งเป็นกลุ่มอีกต่อไป

ขณะที่กรณีกลุ่มด้ามขวานไทย ไปเปิดที่ทำการ จะส่งผลต่อเสถียรภาพของพชปร. หรือไม่นั้น เรียนว่า เนื่องจากส.ส.ทั้ง 13 คน ไม่สะดวกต่อเดินทางและที่พักในการมาประชุมรัฐสภา จึงถือเอาศูนย์ตรงนี้เป็นที่รวมตัวและเป็นศูนย์ประสานงานกับประชาชน ซึ่งตรงนี้คิดมานานแล้ว

พปชร.เป็นพรรคหน้าใหม่ มีที่มาจากหลาย ๆที่ ดังนั้นความคิดเห็นจะแตกต่างกัน แต่ในความคิดเห็นที่แตกต่างกัน กลับไม่เคยแตกแยกกัน เมื่อมีสถานการณ์ที่ไม่เข้าใจความคิดที่แตกต่างกัน ก็มานั่งพูดคุยกัน ทุกครั้งปัญหาก็จะจบไปได้ด้วยดี เท่าที่ผ่านมาก็ทำงานอย่างมีความสุข ภายในพรรคตอนนี้ไม่น่ามีปัญหาอะไรแล้ว หลังจากนี้ก็คงประชุมกันบ่อย ๆ ทิศทางในอนาคตของพรรคก็สงบราบรื่น เพื่อจะนำประเทศไปข้างหน้าอย่างสงบ

@ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล

ในฐานะเป็นแกนนำคนหนึ่งของ พปชร.ปัญหาภาคใต้ ทั้งเรื่องปัญหาการคมนาคม การท่องเที่ยว ราคายาง ราคาปาล์ม นายกรัฐมนตรีจะดูแลภาคใต้ตามนโยบายที่ได้ให้กับประชาชนไว้ โดยทางกลุ่มจะดำเนินการทางการเมืองต่อไป ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ทางกลุ่มของผมไม่ได้กดดันพรรคหรือนายกฯ ในเรื่องของตำแหน่ง เพียงแต่ว่าต้องการทราบแนวทางปฏิบัติตามนโยบายที่ได้ให้กับประชาชนไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องพืชผลทางการเกษตร

ผมไม่ได้คิดถึงตำแหน่ง ให้ผู้นำของเรามีความสบายใจในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี แต่ที่เป็นข่าว เพราะเพียงเป็นห่วงว่า จะดำเนินการอย่างไร ในการแก้ปัญหาและพัฒนาภาคใต้เท่านั้น ยืนยันกับนายกฯ และผู้ใหญ่ในพรรคตลอด ว่าขออยู่ในท้องถิ่น ส่วนกระแสข่าวที่จะเป็นตัวแทนของ 13 ส.ส.ในการมาเป็นรัฐมนตรีนั้น ไม่ใช่

ถ้าถามว่าน้อยใจหรือไม่ ต้องบอกว่า หลังจากการเลือกตั้งทางพรรคค่อนข้างจะนิ่งกับพวกเรา ทั้งๆ ที่ในภาคใต้ 24 ปี พรรคอื่นถึงจะแจ้งเกิดได้ เพราะฉะนั้นเราเองก็นิ่งเหมือนกัน การที่เรานิ่งเพราะคิดว่าทางพรรคเองก็น่าจะรอให้ความวุ่นวายทางการเมืองจบก่อน แต่ปรากฏว่ารอแล้วยังคงนิ่งจนมันมากเกินไป จนเราต้องออกมาทักท้วงนิดนึง ทั้งนี้ไม่ได้นำเสนอที่จะต้องมีรัฐมนตรีในกลุ่มของเรา

@นายเอกราช ช่างเหล่า

ได้ข้อสรุปตรงกันว่า พล.อ.ประยุทธ์เข้าใจ ในการขับเคลื่อนนโยบายที่พปชร.ให้ไว้แก่คนในภาคอีสาน โดยจะหาคนเหมาะสมเข้ามาดูแล ทั้งนี้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะว่า ไม่มีที่ประสานงานขับเคลื่อนนโยบายในพื้นที่ภาคอีสาน โดยต่อจากนี้จะให้นายกฯ เป็นผู้ตัดสินใจว่า จะให้ใครที่เหมาะสมเป็นผู้ขับเคลื่อนในส่วนที่ยังขาดอยู่ ไม่ใช่เฉพาะอีสานตอนบน อาจจะมีหลายจุดที่ยังขาดอยู่อย่างทางภาคใต้ ก็จะหาคนที่เหมาะสมในการขับเคลื่อนนโยบายของ พปชร. ร่วมกัน

เราเห็นว่า ในส่วนของภาคอีสาน เราควรจะมีตัวแทนในการเข้าไปบริหาร ซึ่งทางผู้ใหญ่ก็เข้าใจ โดยจะพิจารณาคนที่เหมาะสม อาจไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง แต่จะมีเจ้าภาพในการเข้าไปขับเคลื่อนในส่วนที่เป็นจุดบอด ผมยืนยันว่าเราไม่ได้เรียกร้องเพื่อตัวเราเอง เราเรียกร้องเพื่อการขับเคลื่อนพัฒนากับประชาชนในภาคอีสานตอนบน

คนอีสานได้ยืนยันมาตั้งแต่แรกว่าต้องมีผู้บริหาร ที่จะเข้าไปรับผิดชอบในการขับเคลื่อนนโยบาย หมายถึงใครก็ได้ที่สามารถจะเชื่อมได้ในการที่จะบริหารจัดการงบประมาณให้กับศูนย์อีสานตอนบน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นตัวแทนของกลุ่มผม แต่ขอให้มีตัวแทนรัฐบาลคนใดคนหนึ่งที่จะเป็นเจ้าภาพที่จะเชื่อมเข้าไปถึงศูนย์บริหารได้

ผมไม่ได้น้อยใจ แต่เป็นความรู้สึกที่แบกความหวังจากประชาชนในช่วงที่นำเสนอนโยบายของพรรค สิ่งที่เกิดขึ้นคือความเงียบและความนิ่งของพรรค ซึ่งอาจจะติดขัดในเรื่องของระบบการจัดการบริหารของพรรค ต้องยอมรับว่าพรรค พปชร.เป็นพรรคใหม่ ผู้บริหารก็หน้าใหม่ ไม่ใช่นักการเมืองมืออาชีพ อาจจะต้องพูดคุยกันให้ใกล้ชิดมากขึ้น

มติชนออนไลน์