“นักวิชาการโทรคมฯ” เชื่อมี 2 ค่ายมือถือ เข้าร่วมจัดสรรคลื่น 700 MHz

นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยถึงกรณีการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ว่า ส่วนตัวประเมินว่า การจัดสรรคลื่นความถี่ครั้งนี้ จะมีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) อย่างน้อย 2 ราย สนใจเข้าร่วม ส่วนอีก 1 ราย อาจอยู่ในระหว่างการพิจารณา จึงไม่ได้มีการแสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าสนใจเข้าร่วม หรือไม่สนใจเข้าร่วม ซึ่งอาจเป็นเพราะคิดว่า ปริมาณคลื่นความถี่ที่ถือครองอยู่มีจำนวนเพียงพอแล้ว หรือความเหมาะสมและประโยชน์ของคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ที่จะนำมาใช้เพื่อรองรับ 5G ในอนาคต แต่อยากได้ปริมาณความถี่ของคลื่น (แบนด์วิธ) มากกว่าที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนด

นายสืบศักดิ์ กล่าวว่า 2 รายที่เข้าร่วมรับการจัดสรรคลื่นความถี่ น่าจะเป็นเพราะต้องการ เข้าเงื่อนไขการขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่โอเปอเรเตอร์อาจมองว่า มูลค่าคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ที่เริ่มต้นที่ 17,584 ล้านบาท กับการได้ขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ จาก 4 งวดเป็น 10 งวด ทำให้เกิดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น

“การที่หลายประเทศ เช่น อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ และจีน เป็นต้น เริ่มเปิดให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์แล้ว มองว่า จะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อประเทศไทย เพราะจะทำให้อุปกรณ์ที่พร้อมรองรับ 5G มีการผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคหาซื้อง่าย และมีราคาถูก จากปัจจุบันที่มีผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม (เวนเดอร์) เพียง 2 ราย ได้แก่ ซัมซุง และหัวเว่ย จึงทำให้อุปกรณ์ต่างๆ มีราคาแพง ดังนั้น เราจึงควรเร่งการจัดสรรคลื่นความถี่ เพื่อให้มีมีปริมาณเพียงพอในการรองรับการใช้งาน 5G ที่จะเกิดขึ้นต่อไป ซึ่งคลื่นความถี่ที่น่าสนใจ ทั้งในระดับสากลรวมถึงไทย คือ คลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ แต่ปัจจุบันไทยมีการใช้งานในกิจการดาวเทียม โดยจะสิ้นสุดสัมปทานในปี 2563” นายสืบศักดิ์ กล่าว

ส่วนกรณีหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งที่ 7/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาความต่อเนื่องของกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นั้น เป็นไปตามอำนาจของหัวหน้า คสช. ที่สามารถใช้อำนาจพิเศษเช่นนี้ได้ แต่โดยแท้ที่จริงแล้วควรมีกระบวนการสรรหาบุคคล หรือคณะกรรมการ กสทช. เพื่อมีอำนาจเต็มในการบริหารและกำกับดูแล เพราะนโยบายเรื่องดิจิทัลและโทรคมนาคมเป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศ

“ด้วยความที่เป็นมาตรา 44 จึงทำให้ทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะกรณีที่กรรมการ กสทช. พ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ ให้กรรมการ กสทช. ที่พ้นจากตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนการสรรหา และคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง หรือจนกว่าจะพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุอื่น ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้อย่างไร เพราะเมื่ออนุญาตให้กรรมการ กสทช. อายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ก็คงต้องเป็นแบบนั้น” นายสืบศักดิ์ กล่าว

นายสืบศักดิ์ กล่าวว่า แต่อีกมุมหนึ่งอยากให้สังคมมองว่า กรรมการ กสทช. ที่อยู่ในวาระ อาจมีบางรายที่รู้สึกอึดอัด เพราะเป็นระยะเวลาการดำรงตำแหน่งที่เกินกว่าแต่ละคนคาดไว้ เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวเป็นครั้งที่ 2 หลังจากเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งที่ 7/2561 เรื่องการยกเลิกและระงับกระบวนการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการ กสทช. และด้วยอายุที่มากขึ้นจึงอยากพักผ่อน หรือต้องการทำงานไปตามวาระของการดำรงตำแหน่ง แต่ก็ไม่สามารถละทิ้งการปฏิบัติหน้าที่ได้ เนื่องจากเป็นคำสั่งตามมาตรา 44 เพียงแต่กรรมการ กสทช. อาจจะไม่ได้พูดหรือไม่ได้ปฏิเสธ

มติชนออนไลน์