“สามารถ” วอน ไม่ว่าใครคุมคมนาคม “ช่วยหาทางลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าด้วย”

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความ ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ แสดงความเห็นเรื่อง ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าเถอะ ระบุว่า

จะเป็นใครก็ตามที่มากำกับดูแลกระทรวงคมนาคม มีงานที่จะต่อริเริ่มและสานต่อมากมาย เช่นในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะต้องเร่งก่อสร้างรถไฟฟ้าตามแผนแม่บท ซึ่งมีเส้นทางรถไฟฟ้ารวมทั้งหมดประมาณ 520 กิโลเมตร เปิดให้บริการแล้วประมาณ 120 กิโลเมตร กำลังก่อสร้าง 175 กิโลเมตร เหลือระยะทางอีกประมาณ 225 กิโลเมตร

การเร่งรัดก่อสร้างรถไฟฟ้าอีกประมาณ 225 กิโลเมตร ให้แล้วเสร็จโดยเร็วนั้น เป็นสิ่งที่ไม่น่าห่วง แต่สิ่งที่น่าห่วงก็คือค่าโดยสารรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ซึ่งแพงกว่าในเมืองอื่นในต่างประเทศหลายเมืองเมื่อเปรียบเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำและค่าครองชีพ ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอยืนยันคำกล่าวดังกล่าวของผม กล่าวคือทีดีอาร์ไอได้เปรียบเทียบให้เห็นชัดว่าในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพฯ เท่ากับ 37.50 บาทต่อชั่วโมง ซึ่งถูกกว่าค่าแรงขั้นต่ำในสิงคโปร์ที่เท่ากับ 250 บาทต่อชั่วโมง แต่มีค่าโดยสารรถไฟฟ้าใกล้เคียงกันคือ 16-70 บาทต่อเที่ยว และ 17-60 บาทต่อเที่ยว ตามลำดับ และยังได้เปรียบเทียบกับอีกหลายเมืองทั่วโลกให้เห็นว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ แพงกว่าจริงๆ

ค่าโดยสารรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ จึงเป็นภาระหนักของพี่น้องประชาชน เพราะบางคนต้องเสียค่าโดยสารรถไฟฟ้าต่อวันมากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลใหม่จึงควรมีนโยบายที่จะลดค่าโดยสาร โดยจะต้องลดค่าโดยสารในเส้นทางที่รัฐบาลลงทุนเองทั้งหมด

ยกตัวอย่างเช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-เตาปูน เป็นต้น ซึ่งมีอัตราค่าโดยสาร 14-42 บาท ผมขอเสนอให้ลดลงเหลือ 15 บาท ตลอดสาย ทำให้ค่าโดยสารจากบางใหญ่-เตาปูน ลดลงเหลือ 15 บาท จากเดิม 42 บาท หรือการเดินทางจากบางใหญ่-หัวลำโพง ซึ่งต้องใช้ทั้งรถไฟฟ้าสายสีม่วง (42 บาท) และสายสีน้ำเงิน (28 บาท) ค่าโดยสารจะลดลงเหลือ 43 บาท (15+28) จากเดิม 70 บาท (42+28) หรือลดลง 27 บาท (70-43) คิดเป็นประมาณร้อยละ 40

การทำเช่นนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล อีกทั้งจะทำให้มีผู้โดยสารรถไฟฟ้าในชานเมืองเพิ่มขึ้น คุ้มค่ากับการลงทุน และที่สำคัญ จะส่งผลดีต่อประเทศชาติในการลดปัญหารถติด ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง ลดมลพิษ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมรับกระแสโลกในการลดก๊าซเรือนกระจก และฝุ่น PM 2.5 อีกด้วย

มติชนออนไลน์