“กสม.” เผยเสียงข้างมากมีมติไม่ส่ง ปม”อังคณา” เคลื่อนไหวร่วม “ปิยบุตร” ให้ป.ป.ช.วินิจฉัยพ้นตำแหน่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊ก สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เผยแพร่เอกสารข่าวเรื่อง “การร้องเรียนนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้พ้นจากตำแหน่ง” โดยมีรายละเอียดคือ

ตามที่มีผู้เรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ยุติการสอบสวนทางวินัยต่อ นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อันเนื่องมาจากการอภิปรายของนายตวง อันทะไชย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคำร้องเรียนของนายสุรวัชร สังขฤกษ์ แห่งกลุ่มการเมืองภาคประชาชนนั้น ขอเรียนว่า

(1) เรื่องนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันพุธที่ 17 เมษายน 2562 ในขณะที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (ผู้สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาเอกทางกฎหมายจากประเทศฝรั่งเศสและเป็นอดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกของพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีนั้น นางอังคณาไปร่วมปรากฏตัวในระหว่างการสอบสวน

(2) ต่อมาเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2562 นายสุรวัชร สังขฤกษ์ แห่งกลุ่มการเมืองภาคประชาชน มีหนังสือถึงประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สอบสวนหาความจริงให้เกิดแก่สังคม หากพบว่านางอังคณามีความผิด ก็ขอเสนอให้นางอังคณาพ้นจากการเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

(3) กสม. ด้านบริหารได้ประชุมเมื่อวันอังคารที่ 30 เมษายน 2562 เพื่อพิจารณาว่า จะส่งเรื่องนี้ไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีหน้าที่และอำนาจดำเนินการต่อไปหรือไม่ โดยขอให้นางอังคณาชี้แจงข้อเท็จจริงก่อน นางอังคณาได้ชี้แจงด้วยวาจาในวันเดียวกัน และมีหนังสือลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2562 ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรอีกครั้งหนึ่ง

(4) ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายไทย การปฏิบัติหน้าที่ของ กสม. ต้องเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม กล้าหาญ และปราศจากอคติทั้งปวงในการใช้ดุลพินิจ ต้องเป็นกลางทางการเมือง ทั้งต้องเป็นไปตามมาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลักโดยต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม เป็นอิสระ เป็นกลาง และปราศจากอคติ

ส่วนการพิจารณาดำเนินการให้มีการตรวจสอบเพื่อให้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติผู้หนึ่งผู้ใดพ้นจากตำแหน่งนั้น ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายไทยมิได้บัญญัติให้เป็นหน้าที่และอำนาจของ กสม. แต่บัญญัติให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนแล้วเห็นว่าคดีมีมูล คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็มีอำนาจฟ้องต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป

(5) จากนั้นที่ประชุม กสม. ด้านบริหารเมื่อวันอังคารที่ 21 พฤษภาคม 2562 ได้พิจารณาปัญหาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่า กสม. จะส่งเรื่องนี้ไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นองค์กรที่มีหน้าที่และอำนาจพิจารณาต่อไปหรือไม่ ที่ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติเสียงข้างมากไม่ส่งเรื่องตามคำร้องเรียนของนายสุรวัชร สังขฤกษ์ ไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาดำเนินการ

การดำเนินการของ กสม. เกี่ยวกับข้อร้องเรียนนางอังคณาดังกล่าว มิใช่การดำเนินการสอบสวนทางวินัยต่อนางอังคณาตามที่มีการกล่าวอ้างแต่ประการใด

มติชนออนไลน์