‘ทวี’ย้ำ อียูเลิกใช้น้ำมันปาล์ม กระทบไทยแน่! จี้ปฏิรูปที่ดินรัฐ ทวงคืนสมบัติชาติ

เมื่อวานนี้ (15 มิถุนายน 2562) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ(ปช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงทิศทางทิศทางปาล์มน้ำมัน และทรัพยากรธรรมชาติ : เมื่อสหภาพยุโรป ประกาศปาล์มเป็นภัยที่ทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของคน สัตว์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

รัฐบาลนอร์เวย์ ประกาศกฎหมายยกเลิกใช้น้ำมันปาล์มและน้ำมันเชื้อเพลิงจากปาล์ม โดยจะเลิกใช้น้ำมันปาล์มเด็ดขาด ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 เป็นต้นไป เหตุผลเพราะปาล์มเป็นส่วนหนึ่งของการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของคนพื้นถิ่นในประเทศ รวมถึงสัตว์ป่า และยังส่งผลกระทบต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เนื่องจากอุตสาหกรรมดังกล่าวจะทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันนำมาซึ่งภาวะโลกร้อน

นอร์เวย์ จึงเป็นประเทศแรกของโลกที่มีกฎหมายที่จะเลิกใช้น้ำมันปาล์มและเชื้อเพลิงชีวภาพเป็นทางการชัดเจน ส่วนสหภาพยุโรป ลงมติเพื่อห้ามการใช้น้ำมันปาล์มและเชื้อเพลิงชีวภาพที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน แต่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2573

ประเทศที่ปลูกปาล์มมากที่สุดคือ อินโดนีเซียกับมาเลเซีย เป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลก สำหรับประเทศไทย ปลูกปาล์มอยู่อันดับที่ 3 แต่เมื่อเทียบแล้วยังมีความแตกต่างอยู่มาก คือ อินโดนีเซีย มีพื้นที่ให้ผลผลิตประมาณ 58 ล้านไร่ ประเทศมาเลเซีย 35 ล้านไร่ ส่วนประเทศไทย (จากข้อมูลสำนักเศรษฐกิจการเกษตร ปี พ.ศ.2560 ) มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน 5.5 ล้านไร่ โดยปลูกมากที่สุดในจังหวัดภาคใต้ 4.8 ล้านไร่ และกระบี่ เป็นจังหวัดที่ปลูกปาล์มมากที่สุดคือ 1.12 ล้านไร่

ราคาปาล์มปัจจุบัน (มิ.ย. 2562) ราคาผลปาล์มสดอยู่ที่ประมาณ 3.30 บาท/กิโลกรัม ถือว่าขยับขึ้นมาโดยมีนโยบายการกระตุ้นให้นำน้ำมันปาล์มดิบใช้ภายในประเทศและใช้เป็นน้ำมันไบโอดีเซล B7 ให้มากขึ้น

กรณีพื้นที่ปลูกปาล์มจังหวัดกระบี่ มีประเด็นที่ต้องติดตาม คือที่ดินที่ใช้ปลูกปาล์มหลายแปลง เป็นพื้นที่ของรัฐที่บริษัทเอกชนได้เช่าสัมปทานที่ดินดังกล่าวกับกรมป่าไม้เพื่อนำไปปลูกปาล์มระยะเวลาเช่านานถึง 30 ปี ตั้งแต่สมัยรัฐบาลปี พ.ศ.2526 ตามมติ ครม. และสัญญาเช่าได้ครบกำหนดไปแล้วเมื่อปี พ.ศ.2556 (สัญญาเช่าระหว่าง พ.ศ. 2526-2556)

แม้ปัจจุบันสวนปาล์มน้ำมันจะหมดสัมปทานตามที่ที่ปรากฏข่าวเรียกร้องของประชาชนที่เรียกกลุ่มว่า สมาคมคนไทยไร้ที่ดินทำกิน กับบริษัทเอกชน เช่าที่หมดอายุสัมปทานที่ กรณี“ม็อบสวนปาล์ม” จ.กระบี่ และต่อมา บริษัทที่ได้รับสัมปทานเช่าได้ใช้ช่องทางศาล ขอให้ศาลปกครองนครศรีธรรมราช มีคำสั่งให้ต่ออายุสัมปทานและต่อมาวันที่ 19 ก.พ. 2561 ศาลปกครองนครศรีธรรมราช มีคำพิพากษายกฟ้องในคดีข้างต้น เมื่อวันที่ 5 เม.ย.. 2561 บริษัทได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด ศาลปกครองสูงสุดได้รับคำอุทธรณ์ของบริษัท ขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด

การตัดสินใจของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปมีผลต่อการกำหนดนโยบายและทิศทางของประเทศที่ผลิตปาล์มอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่ที่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งคือ ทิศทางการบริหารจัดการที่ป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และที่ดินของรัฐ ของประเทศไทย ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต้องเปลี่ยนแปลงและปฏิรูปทั้งระบบ จากกรณีที่รัฐให้บริษัทเอกชนเช่าสัมปทานที่ป่าเมื่อ 30 กว่าปีที่ผ่านมาและส่งปัญหามาถึงปัจจุบัน เป็นหนึ่งในการบริหารราชการที่เรียกกันว่า รัฐรวมศูนย์อำนาจ หรือสั่งการจากบนลงล่าง ไม่กระจายอำนาจ

การแก้ปัญหาจึงขาดการมีส่วนรวมของประชาชน สิทธิชุมชนจึงถูกละเลย และละเมิด ชุมชนไม่สามารถร่วมในการอนุรักษ์ คุ้มครอง บำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ชุมชนได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ ทั้งที่ทรัพยากรธรรมชาติและที่ดินของรัฐดังกล่าว เป็นสมบัติของชาติ อะไรที่เป็น “สมบัติของชาติ ต้องเป็นสมบัติของประชาชน” ไม่ใช่สมบัติของรัฐบาลหรือของเจ้าหน้าที่รัฐเพียงไม่กี่คนตัดสินใจโดยประชาชนไม่มีส่วนรวม

ปัจจุบันหมดอายุสัมปทานรัฐต้องรีบดำเนินการนำคืนมาเป็นของรัฐ เพราะมูลค่าของที่ดินที่ให้เช่าในจ.กระบี่ และจัดหวัดใกล้เคียงที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวของไทยมีชื่อเสียงระดับโลกจำนวนหลายแสนไร่ จะมีราคาที่มูลค่าสูงมากน่าจะเป็นหลักหมื่นล้านหรือหลักแสนล้านบาท