นายกสมาคมทนายความ ยกหลักเกณฑ์สวน ‘วิษณุ’ ปมเเต่งตั้ง กรรมการสรรหาส.ว. ชี้ไม่ใช่เรื่องภายใน

นายกสมาคมทนายฯ ยกหลักเกณฑ์ประกาศราชกิจจาฯ สวน ‘วิษณุ’ ปมเเต่งตั้ง กรรมการสรรหาส.ว. ชี้ไม่ใช่เรื่องภายใน ประชาชนมีส่วนรู้เห็นทุกขั้นตอน
วันที่ 15 มิ.ย. นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ให้ความเห็นข้อกฎหมายกรณี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ชี้ประเด็นเรื่องคำสั่ง คสช. ตั้งกรรมการสรรหา ส.ว. ชอบด้วยกฎหมาย แม้ไม่ได้ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา โดยระบุตอนหนึ่งว่า

การให้สัมภาษณ์และเสนอความเห็นต่อสื่อมวลชนของนายวิษณุ เครืองาม ในขณะทำหน้าฝ่ายกฎหมายให้กับ คสช. และรัฐบาลยุคนี้ ในเรื่องคำสั่ง คสช.ตั้งกรรมการสรรหา ส.ว. ชอบด้วยกฎหมาย แม้ไม่ได้ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา พร้อมชี้แจงเหตุผลว่าเป็นเรื่องขั้นตอนภายในที่ไม่เกี่ยวกับประชาชน

นายนรินทร์ ระบุต่อว่า ตนมีความเห็นที่แตกต่างและขัดแย้งในบทสัมภาษณ์ความเห็นของท่านด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ 1.คณะกรรมการสรรหา ส.ว. ตั้งโดย คสช. ตามรัฐธรรมนูญต้องแต่งตั้งมาจากผู้ทรงคุณวุฒิมีความรู้ประสบการณ์ด้านต่างๆ และมีความเป็นกลางทางการเมือง แม้มิได้มีบทบัญญัติให้ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็ตาม

แต่การแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาที่จะนำไปสรรหา ส.ว.จำนวน 250 คน เป็นตัวแทนของประชาชนเพื่อเข้าไปทำหน้าที่ในสภาโดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้งของประชาชน โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญให้อำนาจ ส.ว. ทั้งหมดมีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ได้นั้น ก็หมายความได้ว่า ในเรื่องดังกล่าวทั้งหมดประชาชนทั้งประเทศต้องมีส่วนเกี่ยวข้องและรับรู้ถึงกระบวนการตั้งแต่รายชื่อกรรมการสรรหา วิธีการสรรหาบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถตามที่กำหนดไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ เพื่อมาทำหน้าที่ ส.ว. ซึ่งหมายความว่าประชาชนมีส่วนสำคัญในฐานะเจ้าของประเทศหรือเจ้าของภาษีที่ต้องเข้ามีส่วนรู้เห็นทุกขั้นตอนในกระบวนการดังกล่าว
นายนรินทร์พงศ์ กล่าวต่อว่า จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า กระบวนการเริ่มต้นการแต่งตั้งกรรมการสรรหาส.ว. จนเลือกส.ว. เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนไทยทั้งประเทศที่มีส่วนได้เสียโดยตรงจำเป็นต้องรับรู้และมีส่วนร่วมถึงขั้นตอนและกระบวนการต่างๆ ในการสรรหาอย่างเปิดเผยตามกฎหมาย เนื่องจากการได้มาซึ่งส.ว. เป็นเรื่องของประชาชนโดยตรง เพราะส.ว.จะไปใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชนตลอดจนกินเงินเดือนภาษีของประชาชน และไม่สามารถที่จะปฏิเสธได้ว่าเป็นเรื่องภายในไม่เกี่ยวข้องกับประชาชน