‘อัยการธนกฤต’ยกคำวินิจฉัย ศาล รธน.14งูเห่าเทียบเคียง ’ภูมิใจไทย’สอบ’เสี่ยโต้ง’โหวตสวนเลือกนายกฯ

‘อัยการธนกฤต’ ยก คำวินิจฉัยศาล รธน. กรณีประชากรไทยขับ 14 งูเห่าจากพรรค เทียบเคียง ภูมิใจไทย สอบ ‘เสี่ยโต้ง’โหวตสวนมติพรรค ชี้ รธน. 60 ให้อำนาจ ส.ส. มีอิสระในการโหวตต่างจากมติพรรคได้ เอื้อ ส.ส. ย้ายพรรค ไม่หวั่นโดนมติขับออก จับตาระยะยาว ส.ส. งูเห่าทั้งรัฐบาลฝ่ายค้านโหวตสวนมติพรรค

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุลอัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุดได้
ได้โพสต์เฟสบุ๊ค ความเห็นกรณีพรรคภูมิใจไทยตั้งคณะกรรมการสอบสวนนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส. จังหวัดศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย กรณีลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีฝ่าฝืนมติของพรรคมีข้อความว่า

เปิดรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีเสี่ยโต้งโหวตสวนมติพรรคภูมิใจไทย

ตามที่พรรคภูมิใจไทยตั้งคณะกรรมการสอบสวนนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส. จังหวัดศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย กรณีลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีฝ่าฝืนมติของพรรคนั้น เรื่องนี้มีข้อน่าพิจารณาถึง คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 1/2542 ที่มีคำวินิจฉัยกรณี ส.ส. ลงคะแนนในสภาโดยฝ่าฝืนมติพรรค จากกรณีที่ ส.ส.ของพรรคประชากรไทยประกอบด้วยนายวัฒนา อัศวเหม และคณะ รวมจำนวน 14 คน จากจำนวน ส.ส. ของพรรคทั้งสิ้น 18 คน ลงคะแนนสนับสนุนให้นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งแตกต่างจากมติพรรคที่ให้สนับสนุนพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัน เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคประชากรไทยจึงได้มีมติลบชื่อนายวัฒนา อัศวเหม และคณะ รวม 14 คน ออกจากทะเบียนสมาชิกพรรคประชากรไทย นายวัฒนา อัศวเหม และคณะ จึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวที่เป็นคดีตำนานงูเห่าพรรคประชากรไทย มีสาระสำคัญที่น่าสนใจดังนี้

1.การจัดตั้งรัฐบาลไม่ใช่อำนาจของคณะกรรมการบริหารพรรค การที่นายวัฒนา อัศวเหม และคณะ ไม่ปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการบริหารพรรคเรื่องการลงมติในสภาผู้แทนราษฎร จึงถือไม่ได้ว่านายวัฒนา อัศวเหม และคณะ ฝ่าฝืนข้อบังคับพรรคหรือมติของคณะกรรมการบริหารพรรค
2.มติของพรรคประชากรไทยที่ลบชื่อนายวัฒนา อัศวเหม และคณะ ออกจากทะเบียนสมาชิกพรรคประชากรไทย ทำให้สมาชิกภาพของ ส.ส. ต้องสิ้นสุดลงนับแต่วันที่พรรคการเมืองมีมติตามรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 118 (8) ซึ่งเท่ากับความเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยสิ้นสุดลงด้วยและไม่อาจปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทยตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 149 ได้ มติของพรรคจึงขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.โดยชัดแจ้ง และขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 47 วรรคสาม

3.นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังได้วินิจฉัยว่า คณะกรรมการบริหารพรรคไม่มีอำนาจลงมติว่า ส.ส. ที่เป็นสมาชิกพรรค จะต้องลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจรัฐบาล เพราะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรโดยตรง

กล่าวโดยสรุป ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 1/2542 ว่า มติพรรคประชากรไทยที่ให้ลบชื่อนายวัฒนา อัศวเหม และคณะ รวม 14 คน ออกจากทะเบียนสมาชิกพรรคประชากรไทยดังกล่าว เป็นมติที่ไม่ชอบขัดกับรัฐธรรมนูญ 2540 เนื่องจาก ส.ส. ย่อมมีอิสระในการลงคะแนนในสภาอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม และเป็นไปตามหลักการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยไม่ต้องปฏิบัติตามมติพรรคได้ สมาชิกภาพ ส.ส. ของนายวัฒนา อัศวเหม และคณะ จึงไม่สิ้นสุดลง

สำหรับรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ได้บัญญัติหลักการยืนยันความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส. ไว้ในมาตรา 114 ว่า ส.ส. เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใด ๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 ยังมีความแตกต่างจากรัฐธรรมนูญ 2540 ในเรื่องมติพรรคที่ขับ ส.ส.พ้นจากสมาชิกพรรค ในขณะที่รัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 118 (8) บัญญัติให้สมาชิกภาพ ส.ส. สิ้นสุดลง นับแต่วันที่พรรคมีมติให้ ส.ส.พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรค แต่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 101 (9) กำหนดว่า ถึงแม้จะมีมติพรรคให้ ส.ส. พ้นจากสมาชิกพรรค สมาชิกสภาพ ส.ส. ก็ไม่สิ้นสุดลง หาก ส.ส. คนนั้นได้เข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นภายใน 30 วันนับแต่วันที่พรรคมีมติ

ดังนั้น หลักประกันความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส. ตามที่บัญญัติไว้ ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ยังคงมีอยู่ และเมื่อพิจารณาประกอบกับแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 1/2542 ดังกล่าวแล้ว ส.ส. ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ก็ยังคงมีความเป็นอิสระในการลงมติที่ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามมติพรรคได้ การที่จะเห็นพรรคการเมืองใดลงโทษ ส.ส. ด้วยการมีมติพรรคให้ ส.ส. ผู้นั้น พ้นจากสมาชิกพรรค เพื่อหวังผลการลงโทษให้พ้นจากความเป็น ส.ส. จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ ส.ส. ที่ถูกขับออกจากพรรคสามารถเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใหม่เพื่อไม่ให้พ้นสภาพการเป็น ส.ส. ได้ ที่น่าจับตามองในระยะยาวคือ จะมีบรรดา ส.ส. งูเห่าทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่ลงคะแนนสวนทางกับมติพรรคเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเอื้อต่อการให้ ส.ส. ย้ายพรรคได้ โดยไม่ขาดจากความเป็น ส.ส.

มติชนออนไลน์