“มูลนิธิกาญจนบารมี” สืบสานพระราชปณิธาน ดูแลผู้ป่วยยากไร้ คัดกรองมะเร็งเต้านมถิ่นทุรกันดาน

มะเร็งเต้านม ถูกจัดเป็นหนึ่งในมะเร็งร้ายที่คร่าชีวิตผู้หญิงเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ องค์การอนามัยโลก ให้ข้อมูลว่า ในปี 2561 พบผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมรายใหม่ทั่วโลกสูงกว่า 2,088,849 ล้านคน เสียชีวิตถึง 626,679 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุว่า มีหญิงไทยป่วยด้วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ เฉลี่ยปีละ 20,000 คน หรือประมาณ 55 คนต่อวัน และเสียชีวิตกว่า 6,000 คน หรือกว่า 17 คนต่อวัน

สถานการณ์โรคมะเร็ง จึงกลายเป็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ด้วยเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว มูลนิธิกาญจนบารมี จึงจัดทำโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส ขึ้นในโอกาสมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ ในปีพุทธศักราช 2555 เพื่อส่งเสริมการป้องกันมะเร็งเต้านมในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส รวมทั้งช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ยากไร้ให้ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง

ดร.นพ.สมยศ ดีรัศมี ประธานมูลนิธิกาญจนบารมี เล่าว่า มูลนิธิกาญจนบารมี กำเนิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ภายหลังจากที่พระองค์ทรงทราบถึงความเดือดร้อนของประชาชนที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่สถานพยาบาลที่ทำการรักษาไม่เพียงพอ ทำให้ต้องรอรับการรักษาเป็นระยะเวลานาน ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานกับผู้ป่วย พระองค์จึงทรงพระราชดำริให้จัดสร้างศูนย์วินิจฉัยบำบัดรักษาผู้ป่วยมะเร็งขึ้น ที่ ต.บึงสนั่น อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ภายใต้โครงการกาญจนบารมี และได้ขอพระราชทานชื่อว่า “ศูนย์มหาวชิราลงกรณธัญบุรี สถาบันมะเร็งแห่งชาติ” ซึ่งต่อมาได้มีการยกสถานะขึ้นเป็นโรงพยาบาลจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี” มาจวบจนปัจจุบัน พระองค์ยังทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นเงินทุนในการจัดตั้งมูลนิธิกาญจนบารมี เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของศูนย์วินิจฉัยบำบัดรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ควบคู่กับการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งอีกด้วย

“ด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น มูลนิธิกาญจนบารมี และกระทรวงสาธารณสุขจึงร่วมกันจัดทำโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) เคลื่อนที่ เดินทางไปให้บริการวันละ 1 อำเภอ ทุกจังหวัด ทั่วประเทศ เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมให้กับสตรีกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ห่างไกลจากสถานพยาบาล และมีฐานะยากจน ให้ได้รับโอกาสในการตรวจคัดกรองมะเร็งด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุด โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น”

รถเคลื่อนที่ที่ใช้ในการลงพื้นที่แต่ละครั้ง จะประกอบด้วย รถ 4 คัน คือ รถประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ (Mobile Advertising Unit) รถสาธิตและตรวจมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่ (Mobile Check Up Unit) รถนิทรรศการและให้ความรู้โรคมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่ (Mobile Learning Exhibition Unit) และรถตรวจเอ็กซเรย์เต้านมเคลื่อนที่แบบประสิทธิภาพสูง (Mammogram) สามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เมื่อวินิจฉัยพบเร็ว ก็มีโอกาสรักษาหายเป็นปกติ และลดอัตราการเสียชีวิตได้กว่าร้อยละ 80

“ทุกครั้งก่อนลงพื้นที่ เราจะร่วมมือกับทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดต่างๆให้คัดกรองกลุ่มเสี่ยง เช่น มีก้อนที่เต้านม มีเลือดหรือน้ำเหลืองออกทางหัวนม เคยเป็นมะเร็งเต้านมอีกข้างหนึ่ง หรือมีญาติสายตรง เช่น แม่ พี่สาว น้องสาว เป็นมะเร็งเต้านม เป็นต้น เมื่อชุดเคลื่อนที่เดินทางไปถึงสตรีกลุ่มเสี่ยงก็จะได้รับการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม และสอนวิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง ก่อนเข้ารับการตรวจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หากพบความผิกปกติก็จะได้รับการเอ็กซเรย์เต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม แล้วส่งต่อไปรับการรักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิขั้นพื้นฐาน”

ดร.นพ.สมยศ กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันเข้าสู่รอบปีที่ 6 ของการออกหน่วย เรามีการคัดกรองมะเร็งเคลื่อนที่ รวมทั้งสิ้น 794 ครั้ง ในพื้นที่ 654 อำเภอ (ณ วันที่ 05 มิถุนายน 2562) มีการตรวจคัดกรองมะเร็งให้กับผู้หญิงกลุ่มเสี่ยงไปแล้วกว่า 277,900 คน และเอกซเรย์เต้านมด้วยเครื่องเครื่อง Mammogram 16,557 ราย ส่งคนไข้ที่สงสัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมไปตรวจวินิจฉัยโดยละเอียดเพิ่มเติม 1,834 ราย ซึ่งปลายเดือนกรกฎาคมนี้ทางมูลนิธิฯเตรียมเปิดตัวโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอ็กซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส ในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ต่อยอดเพิ่มรถเอ็กซเรย์เต้านมเคลื่อนที่อีก 2 คัน คาดจะรองรับการตรวจคัดกรองผู้ป่วยด้วยเครื่องแมมโมแกรมเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 120 คน จากปัจจุบันที่สามารถคัดกรองได้เพียงวันละ 30-40 คน เพื่อให้บริการประชาชนได้ครอบคลุมทุกพื้นที่อย่างแท้จริง

หนึ่งในพื้นที่ที่มะเร็งเต้านมถูกยกให้เป็น 1 ใน 3 สาเหตุแรกของการเสียชีวิต อย่างจังหวัดเลย จากสถิติที่ผ่านมา พบสตรีที่ป่วยด้วยมะเร็งเต้านมปีละไม่ต่ำกว่า 100 ราย และ 1 ใน 4 ของผู้ป่วยเหล่านี้มักมาโรงพยาบาลในช่วงที่ป่วยระยะสุดท้าย คือ ระยะที่ 3-4 ทำให้การรักษาเป็นไปได้ยาก และมีโอกาสเสียชีวิตสูง

“นพ.ปรีดา วรหาร” นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเลย เล่าว่า ก่อนที่ทางมูลนิธิฯจะเข้ามาทำโครงการดังกล่าว ผู้ป่วยที่ต้องการตรวจด้วยเครื่อง Mammogram จะต้องเดินทางไปตรวจที่จังหวัดขอนแก่นหรืออุดรธานี ซึ่งใช้เวลาเดินทางนานกว่า 3 ชั่วโมง ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายและเสียเวลา ประกอบกับประชาชนกว่าครึ่งของจังหวัดเลย มักอาศัยอยู่ตามพื้นที่ราบสูง ซึ่งเป็นถิ่นทุรกันดาร เดินทางเข้าถึงยาก โครงการนี้จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทำให้สามารถคัดกรองผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะแรกได้ และนำสู่กระบวนการรักษาได้ทัน

“ไม่ว่าจะลำบากแค่ไหน พวกเราก็ไม่เคยย่อท้อ เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนองพระราชปณิธานพระองค์ท่าน โครงการนี้เป็นโครงการที่ทรงคุณค่า สามารถช่วยเหลือคนไข้ในถิ่นทุรกันดาร ให้มีโอกาสเข้ารับการตรวจคัดกรองและรักษามะเณ้งเต้านมในระยะเริ่มแรกได้ ทุกคนต่างซาบซึ้งที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยและคำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรไทย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้” ดร.นพ.สมยศ ดีรัศมี กล่าวทิ้งท้าย