เซ่นนโยบายทวงคืนผืนป่า จำคุกยายชาวชัยภูมิวัย 74 ปรับ 4 แสน ข้อหาบุกรุกป่า

วันที่ 13 มิถุนายน 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา นางสุณี นาริน ,น.ส.สุภาพร สีสุข และนางปัทมา โกเม็ด ตกเป็นจำเลย กรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง ฟ้องคดีชาวบ้านซับหวาย ต.ห้วยแย้ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ เดินทางไปยังศาลชัยภูมิ เพื่อฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตามหมายนัด

โดยจำเลยทั้ง 3 ราย ได้แยกกันไปตามห้องพิจารณาคดี โดย นางสุณี นาริน ยายชราอายุ 74 ปี เข้ารับฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ที่ห้องพิจารณาคดี 5 ถูกศาลสั่งจำคุก 5 เดือน 10 วัน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 439,027 บาท

ส่วน น.ส.สุภาพร สีสุข (พี่สาวคนโตของกบ นิตยาม่วงกลาง) เข้ารับฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ที่ห้องพิจารณาคดี 6 โดยศาลมีคำสั่งจำคุก 5 เดือน 10 วัน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 380,000 บาท และนางปัทมา โกเม็ด เข้ารับฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ที่ ห้องพิจารณาคดี 2 ศาลมีคำสั่งจำคุก 8 เดือน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท

รวมแล้วชาวบ้านทั้งหมด 14 ราย 19 คดี ที่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง (อช.ไทรทอง) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องชาวบ้านทั้ง 14 ราย ข้อหาบุกรุกป่า ตามคำสั่งจากนโยบายทวงคืนป่าของหัวหน้าคณะ คสช.ถูกศาลพิพากษาสั่งจำคุกแล้วรวม 5 ราย

โดยรายแรกคือ น.ส.นิตยา ม่วงกลาง ในคดีที่ 1 (15 พ.ค.62) ศาลสั่งจำคุก 4เดือน ให้ชดใช้ค่าเสียหาย 40,000 บาท ส่วนคดีที่ 2 (5 มิ.ย.62) ศาลสั่งจำคุก 8 เดือน ให้ชดใช้ค่าเสียหาย 150,000 บาท รวมแล้ว 2 คดี นิตยาถูกคำสั่งศาลจำคุก 12 เดือน ปรับเงินจำนวนรวม 190,000 บาท

และรายที่สอง คือยายสีนวล พาสังข์ อายุ 61 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษา จำคุก 5 เดือน 10 วัน ให้ชดใช้ค่าเสียหาย 150,000 บาท

ในวันเดียวกัน ประมาณ 13.00 น. ชาวบ้านสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) กว่า 80 คน ที่เดินทางมาร่วมเป็นกำลังใจ ได้เดินเท้าจากศาลชัยภูมิ ไปยังศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ เพื่อขอเข้าพบนายณรงค์ วุ่นซิ่ว ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ เพื่อขอให้ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิในที่ดินทำกินที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนโยบายทวงคืนผืนป่า

เพื่อติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา ทั้งที่ได้มีการตั้งคณะทำงานจังหวัดขึ้นมา โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดประธาน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา

แต่กระบวนการต่อสู้ในสิทธิที่ดินทำกินของชาวบ้าน รวมทั้งการผลักดันแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วม และคณะทำงานจังหวัดได้มีมติเห็นชอบ เพื่อหวังว่าฐานะของแผนดังกล่าว จะนำไปสู่การยุติความขัดแย้ง และปลดล็อกปัญหาคดีความได้

แต่การดำเนินงานของเจ้าหน้าที่รัฐ กลับเป็นไปอย่างล่าช้า ส่งผลให้ชาวบ้านไดรับความเดือดร้อน และถูกดำเนินคดี กระทั่งชาวบ้านผู้ตกเป็นจำเลยถูกศาลพิพากษาให้จำคุก

กระทั่งประมาณ 14.00 น.เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ผู้ว่าฯ ติดภารกิจอยู่ต่างหวัด ดังนั้น รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ พร้อมด้วยตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ คือ อัยการจังหวัด กระทรวงทรัพยากรจังหวัด และทางสำนักงานยุติธรรมจังหวัดชัยภูมิ เข้ามาร่วมประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหากับชาวบ้านผู้เดอดร้อน

ผลการประชุม โดยตัวแทนชาวบ้านผู้เดือดร้อน ได้มีข้อเสนอ 4 ข้อ คือ 1.ให้ประสานกองทุนยุติธรรมเพื่อช่วยเหลือคดีในส่วนหลักทรัพย์ประกันตัวผู้ต้องหา ผลการหารือ ให้ตัวแทนจัดทำเอกสาร โดยจำแนกเป็นรายคดี เพื่อเสนอไปยังยุติธรรมจังหวัด และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมต่อไป

2.ให้เร่งดำเนินงานตามแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากมติที่ประชุมคณะทำงานจังหวัดแล้ว กรณีนี้ ผู้แทนกรมอุทยานฯ ชี้แจงว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาคุณสมบัติตามนัยคำสั่ง คสช. 66/ 2557 โดยฝ่ายประชาชนเสนอให้ดำเนินการได้เลย เพราะผ่านการพิจารณาร่วมกันแล้ว ผลการหารือ ให้มีการประสานงาน และดำเนินการตามแผนข้างต้น

3.ให้ย้ายหัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรทอง ผลการหารือ จังหวัดอ้างว่าไม่มีอำนาจตัดสินใจ จะประสานไปยังกรมอุทยานฯ ต่อไป

และ 4.ให้ช่วยเหลือ เยียวยาครอบครัวผู้ถูกคดี ซึ่งมีทั้งป่วย พิการ ผลการหารือ จังหวัดจะประสานหน่วยงานลงพื้นที่ เพื่อรับฟังข้อมูล และกำหนดมาตรการช่วยเหลือต่อไป