อ.รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ ตอนนี้ไทยไม่ใช่ ‘ปชต.ครึ่งใบ’ แต่เป็น ‘ประชาธิปไตยสลึงเดียว’

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นกับ “มติชนออนไลน์” ต่อกรณีผู้ตั้งข้อสังเกตอย่างกว้างขวางว่าการเมืองไทยในขณะนี้ เข้าข่าย “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” เทียบเคียงยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ว่า ปัจจัยในช่วงเวลานี้กับเมื่อ 40 ปีก่อนนั้นแตกต่างกัน และตนมองว่า นี่ไม่ใข่ประชาธิปไตยแบบ 50/50 แต่เป็นประชาธิปไตยสลึงเดียว

“ในสภาวะอย่างนั้น (40 ปีก่อน) เป็นการประนีประนอมระหว่างภาคราชการ กองทัพ กับฝ่ายการเมือง คือเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง แต่งตั้งครึ่งหนึ่ง พบกันครึ่งทาง แต่ให้สิทธิของวุฒิสภาเหนือกว่าสภาผู้แทนราษฎร แต่ปีนี้ผมเรียกมาตลอดว่าเป็นประชาธิปไตยสลึงเดียว ไม่ใช่ 50/50 แต่เป็น 1 ใน 4 เสียงของประชาชน มิอาจเป็นเสียงแห่งความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลได้ ในทางกลับกัน กลายเป็นพรรคเสียงข้างน้อยบวกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง สามารถจัดตั้งรัฐบาลโดยที่ไม่ผนวกรวมกับเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งโดยมารยาทควรเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็ไม่ได้เป็นแกนนำ นี่คือสภาวะที่ต่างไปจาก 2521 รวมทั้งจังหวะของการลงตัวซึ่งยุคนั้นมีปัจจัยจากสงครามเย็น จากการเติบโตของพลังราชการ และพลังนอกราชการที่ยังไม่โตมาก แต่ ณ ปีนี้มีเงื่อนไขต่างกัน อย่างยุค พล.อ.เปรม การที่ พล.อ.เปรมไปดูโผทหารทุกครั้งก็เป็นการประกันความมั่นคงของรัฐบาลเปรมที่ยืนยาวได้ถึง 8 ปี” ผศ.ดร.บัณฑิตกล่าว

ส่วนประเด็นที่สังคมตั้งคำถามว่า แม้พลเอกประยุทธ์ และพลเอกเปรม ต่างก็เป็นทหาร แต่ใช่ว่า ‘บารมี’ ทางการเมืองของทั้ง 2 จะเท่ากัน อันอาจส่งผลต่อการอยู่สั้นหรืออยู่ยาวบนเก้าอี้นายกฯ นักรัฐศาสตร์ท่านนี้กล่าวว่า

“ผมว่าต้องดูกันไป เพราะบารมีของ พล.อ.ประยุทธ์คงไม่เหมือน พล.อ.เปรม และไม่เท่า อาจไม่มีวันเท่าด้วย คำถามพื้นๆ คือ พล.อ.ประยุทธ์คุมโผทหารได้ไหม ถ้าคุมได้ก็โอเค เรียกโผทหารไปดูได้ไหม ไปขอคุยได้ไหม (หัวเราะ) ผมว่ามันจะไม่เหมาะเอา ยุคนี้คงไม่เหมือนในเงื่อนไขดังกล่าว”

ผศ.ดร.บัณฑิตกล่าวด้วยว่า สำหรับการที่ รัฐธรรมนูญ 2521 ถูกใช้ยาวนานกว่า 12 ปี และพลเอกเปรมก็ ‘อยู่ยาว’ ถึง 8 ปี ทว่า รัฐธรรมนูญดังกล่าว มีการแก้ไขเรื่อยมา โดยเฉพาะก่อนเกิดรัฐประหารเมื่อ พ.ศ.2534 นอกจากนี้ ยังมีความเปลี่ยนแปลงบางอย่างทางความคิดเกิดขึ้นในช่วงปลายรัฐบาล พล.อ.เปรม ภายใต้พลังของ ‘ภาคเอกชน’ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับห้วงเวลานี้ มีสภาพการณ์ที่ต่างออกไป

“จริงๆ รัฐธรรมนูญฉบับนั้นมีการแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนการรัฐประหารปี 2534 มีการแก้ไขในส่วนที่ว่าด้วยประธานรัฐสภา หรือการยอมรับหลักการว่า ตัวแทนของประชาชนควรเหนือที่สุดในสถาบันทั้ง 3 คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ตุลาการ และบริหาร และมีช่วงหนึ่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฉลองว่าเรามีตัวแทนของ 3 สถาบัน ผมเองก็อยู่ในช่วงนั้น โตมา และเห็นความภาคภูมิใจของการที่สถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งเชิดชูว่าเรามีตัวแทนของประมุขทั้ง 3 สถาบัน ทั้งนี้ เป็นการสะท้อนความศรัทธาที่มีต่อระบอบการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ 2521 แต่เปลี่ยนในตอนท้าย คือไม่ได้อยู่นิ่งตายตัว อำนาจการต่อรองไม่ได้หยุดนิ่งตายตัว

ในช่วงปลายยุคเปรมเราจะเห็นการเติบโตในพลังของภาคเอกชนที่รู้สึกว่า การให้ทหารมานั่งกำกับนโยบาย เศรษฐกิจ การมือง ไม่ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลง แรงผลักดันที่ทำให้ พล.อ.ชาติชายได้เป็นนายกฯก็ออกมาอย่างชัดเจน ในลักษณะฎีกา 99 คนที่ทำให้ พล.อ.เปรมประกาศว่าผมพอแล้ว ต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ

แต่ในปีนี้เราไม่ได้มีเงื่อนไขแบบนั้น มันต่างกัน เพราะถ้าเราลองนึกถึงการเมืองช่วงสิบปีที่ผ่านมา โจทย์ใหญ่ไม่ใช่สงคารมเย็นแล้ว แต่เป็นสงครามภายใน เป็นสงครามที่เราปะทะกันเอง แล้วกองทัพจับปืนเข้าจัดการความขัดแย้ง แล้วแทรกแซงทางการเมือง เราต้องเข้าใจโจทย์ตรงนี้ก่อน ดังนั้นรัฐธรรมนูญ 2560 จึงออกแบบมาเพื่อธำรงอำนาจบางอย่าง ถึงขั้นที่มีตำแหน่งถาวรของกองทัพในวุฒิสภา 6 ตำแหน่ง อย่างที่คนบอกว่าสรรหา 250 แต่ความจริงแล้วสรรหาเพียง 244 คน เพราะ 6 เก้าอี้นี้ลอยมา เป็นตำแหน่งที่รับเงินเดือน 2 ทาง เป็นตำแหน่งที่พิเศษที่สุด (หัวเราะ) ในโครสร้างแบบนี้ผมถึงเรียกว่า ประชาธิปไตยสลึงเดียว

ภายใต้เงื่อนไขแบบนี้จึงไม่ใช่สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญ 2521 อีกทั้งยังเป็นความท้าทายที่คนในรัฐบาลเอง ซึ่งตอนนี้ยังไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้เลย ด้วยเหตุที่เขาไม่มีกองทัพหนุนหลังขนาดนั้น และกองทัพเองก็ต้องลังเลใจเพราะเงื่อนไขต่างกัน” รองคณบดีรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว

มติชนออนไลน์