‘ทวี’ อัด ‘บิ๊กตู่’ ใช้ม.44 อุ้มทีวีดิจิทัล 2ช่องเอื้อกลุ่มทุน

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ (ปช.) ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 4/2562 ลงวันที่ 11 เมษายน 2562 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม โดยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยหลังจากประชุมคณะอนุกรรมการเยียวยาการเรียกคืนคลื่นความถี่ 700 MHz ตามคำสั่ง คสช.ที่ 4/2562 เพื่อพิจารณาแผนเยียวยาและคืนเงินช่องสปริงนิวส์ 19 และสปริง 26 (ชื่อเดิม NOW26) ว่ารัฐจะจ่ายค่าชดเชยให้ทั้ง 2 ช่องเป็นวงเงินราว 1,175 ล้านบาท (สปริงนิวส์ 19 จำนวน 500 ล้านบาท ส่วน NOW26 จำนวน 675 ล้านบาท) ว่า น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล จากพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ได้อภิปรายถึงการใช้ ม.44 อุ้มทีวีดิจิทัลและการยืดหนี้ใบอนุญาต 4G ว่าไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรง ซึ่งเป็นคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5) การที่ หน.คสช.ออกคำสั่ง ม.44 ดังกล่าว ถือว่าเป็นการสนับสนุนเงินหรือทรัพย์สินอื่น เพื่ออุดหนุนกิจการสื่อมวลชนของเอกชนที่รัฐจะกระทำไม่ได้ ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 35 วรรค 5 ที่บัญญัติว่า การให้เงินหรือทรัพย์สินอื่นเพื่ออุดหนุนกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นของเอกชน รัฐจะกระทำมิได้ หน่วยงานของรัฐที่ใช้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินให้สื่อมวลชนไม่ว่าเพื่อประโยชน์ในการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ หรือเพื่อการอื่นใดในทำนองเดียวกันต้องเปิดเผยรายละเอียดให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินทราบตามระยะเวลาที่กำหนดและประกาศให้ประชาชนทราบด้วย

“คำสั่ง ม.44 ที่ออกมาเพื่อช่วยเหลือการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ซึ่งจะเรียกว่าทีวีดิจิทัลคือเป็นระบบการส่งผ่านสัญญาณภาพวิดีโอและเสียงโดยระบบดิจิทัล ถือว่าเป็นสื่อมวลชนชนิดหนึ่งด้วย และสิทธิหรือประโยชน์อื่นใดที่สนับสนุนอยู่ในความหมายของคำว่าทรัพย์สินด้วย จึงเป็นเรื่องต้องห้าม” เลขาพรรค ปช.ระบุ

พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า กรณีนี้มีผู้วิพากษ์วิจารณ์แสดงความเห็น ทั้งนักวิชาการจาก TDRI นักสื่อสารมวลชน และผู้เชี่ยวชาญต่างๆ รวมทั้งภาคประชาสังคมผู้ที่สนใจ ว่าการช่วยเหลือดังกล่าวผู้ได้ประโยชน์มากที่สุดคืออภิมหาเศรษฐีและนักลงทุนต่างชาติ ผู้เสียหายคือประเทศและประชาชน การกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 35 วรรค 5 ที่บัญญัติห้ามรัฐสนับสนุนเงินหรือทรัพย์สินสื่อมวลชนของเอกชน และมีพฤติกรรมฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรง ขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 160 (4) และ (5) เห็นว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกสภาทั้งหมด หรือจำนวน 50 คน เข้าชื่อร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 170 ประกอบมาตรา 160 และมาตรา 82 ที่ประธานสภาได้รับคำร้องต้องส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการสิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ต่อไป สำหรับประชาชนที่เป็นผู้เสียหายจากการที่ถูก คสช. และ กสทช.เอาเงินไปใช้อุ้มทีวีดิจิทัลที่เป็นกลุ่มทุนใหญ่นั้น การรับรู้ข้อมูลยังถือว่าน้อย จำเป็นต้องได้รับข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน และมีการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจให้มากขึ้น เพราะถือเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนเอง