อ.จุฬาฯ งงวาทะ ‘หนุ่มสาวต้องเป็นซ้าย แก่ไปต้องอนุรักษนิยม’ รับห่วงรุ่นลูกโตในสงครามความเกลียดชัง

อ.จุฬาฯ งงวาทะ ‘หนุ่มสาวต้องเป็นซ้าย แก่ไปต้องอนุรักษนิยม’ รับห่วงรุ่นลูกโตในสงครามความเกลียดชัง

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับ “มติชนออนไลน์” ถึงทางออกของความขัดแย้งในการเมืองไทย โดยในตอนหนึ่งระบุว่า มองเห็นแสงสว่างยาก เพราะความขัดแย้งส่งทอดไปถึงคนรุ่นลูก ซึ่งตนมีเพื่อนที่มีลูกแสดงความกังวล แต่ที่น่าประหลาดใจที่สุดคือมีผู้กล่าวว่า ในวัยรุ่นหนุ่มสาว คุณต้องเป็นซ้าย เมื่ออายุมากขึ้น คุณต้องเป็นอนุรักษนิยม สำหรับคนที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง มีแนวโน้มสนับสนุนทหาร โดยอาจเป็นเพราะโตมาใน “วันชื่นคืนสุข” สำหรับทางออกมองว่า แก้ไขการดำเนินการของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้มีสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งก็จะกลับไปในเงื่อนไขที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดมาแล้วในช่วงปลายทศวรรษ 2530 หรือในยุคของนายบรรหาร ศิลปอาชา

“แสงสว่างนี่ยากนะครับ เพราะเราจะเห็นได้ว่าความแหลมคมของความขัดแย้งทางการเมืองมันส่งทอดมาถึงคนรุ่นลูกเรา ผมเองก็แก่ที่พอจะมีลูกเป็นของตัวเองได้แล้ว รวมทั้งในวัยนี้ได้เห็นเพื่อนๆ ที่มีลูกแสดงความกังวล แสดงความคิดเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่น่าประหลาดใจที่สุดคือ มีคนบอกว่าในวัยรุ่นหนุ่มสาว คุณต้องเป็นซ้าย เมื่ออายุมากขึ้น คุณต้องเป็นอนุรักษนิยม

“ผมพบว่าคนรุ่นผมจำนวนไม่น้อยมีอคติต่อการเปลี่ยนแปลง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเขาเติบโตมาในวันชื่นคืนสุข และไม่อยากเปลี่ยนแปลงอะไรนอกเหนือจากนี้ ดังนั้น หลายคนจึงมีแนวโน้มสนับสนุนรัฐบาลทหาร แล้วพานมองคนรุ่นใหม่ที่อยากเปลี่ยนแปลงว่าไม่เข้าใจสังคม วัฒนธรรม การเมือง ทำให้เกิดสงครามของสื่อ สงครามของความเกลียดชัง แม้กระทั่งฝั่งอนุรักษนิยมก็คิดเหมือนกัน กรณีแพทย์หญิง คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ก็พูดเหมือนกัน คำถามคือ เมื่อไหร่เราจะยุติเกมที่สร้างความเกลียดชังนี้ได้ ผมว่าไม่ง่ายทีเดียว เป็นความท้าทายของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าไม่สามารถแก้ไขได้

“การแก้ไขรัฐธรรมนูญในบางมาตราไม่ได้แก้หรอกครับ ผมคิดว่าที่ดีที่สุดคือ แก้ไขการดำเนินการของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้มีสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งก็จะกลับไปในเงื่อนไขที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดมาแล้วในช่วงปลายทศวรรษ 2530 หรือในยุคของนายบรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งนั่นหมายความว่าต้องใช้กำลังอีกไม่น้อย ต้องใช้พลังความกล้าหาญ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ยากมาก หลายคนบอกว่าเหลือทางน้อยมาก อาจเกิดการรัฐประหารซ้ำ เพื่อจะแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งผมเองไม่เห็นด้วย แต่ยากที่จะเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้เข้าสู่คุณภาพใหม่ มันยากมากๆ ครับ” ผศ.ดร.บัณฑิตกล่าว

มติชนออนไลน์