สื่อญี่ปุ่นชี้ “ประยุทธ์” กลับมานั่งนายกฯ ย้อนไทยกลับสู่การเมืองยุค 1980

นิตยสาร นิกเกอิ เอเชียน รีวิว เผยแพร่ข้อเขียนแสดงความคิดเห็นต่อสภาพการเมืองไทยโดยนาย โทรุ ทากาฮาชิ บรรณาธิการบริหาร เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน เกี่ยวกับเรื่องสถานการณ์การเมืองในไทย หลังจากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยว่า หลังการปกครองประเทศมา 5 ปี และพล.อ.ประยุทธ์ ยังคงได้รับเลือกให้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ซึ่งทำให้การเมืองไทยถอยหลังกลับไปสู่การเป็น “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ในช่วงยุคทศวรรษ 1980

รายงานระบุว่า หลังการปฏิวัติสยาม เมื่อปี พ.ศ.2475 ระบบการเมืองไทยใช้ระบบประชาธิปไตยรัฐสภา แต่ในช่วงหลายปีหลังจากนั้น ทหารได้เข้ามายึดอำนาจในการปกครองและต่อต้านระบบพรรคการเมือง

กระทั่งการเปลี่ยนแปลงในช่วงทศวรรษ 1980 เมื่อพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นเวลานานถึง 8 ปี แม้ว่าพล.อ.เปรมจะเป็นทหาร แต่ก็ปฏิบัติตามกระบวนการประชาธิปไตย มีการปรับคณะรัฐมนตรีและยุบสภาก่อนหน้าที่จะจัดการเลือกตั้ง

นิกเกอิ เอเชียน รีวิว ระบุว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว แม้ว่าระบบการเมืองไทยจะไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มที่ แต่ประชาชนยังคงมีความสุขกับช่วงเวลาที่ประชาธิปไตยครึ่งใบที่มีเสถียรภาพ ที่ช่วยทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างรวดเร็ว กระทั่งในปี 2531 ที่พล.อ.เปรมลงจากตำแหน่ง เปิดทางให้ประชาชนได้เลือกนายกรัฐมนตรีเอง ช่วงเวลานั้นเองที่ประเทศไทยเข้าสู่ประชาธิปไตย

โดยในรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับปี 2540 มีการกำหนดให้นายกรัฐมนตรีจะต้องมาจากสภาผู้แทนราษฎร เพื่อหลีกเลี่ยงการแทรกแซงของทหาร อย่างไรก็ตาม เมื่อ ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2544 และได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มคนรากหญ้า เนื่องจากนโยบายในการช่วยเหลือผู้ยากไร้

ด้วยความนิยมอย่างสูง ทำให้พรรคการเมืองของทักษิรได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งสมัยที่ 2 และทำให้เกิดความแตกแยกอย่างมากในไทย นำไปสู่การรัฐประหารเมื่อปี 2549 และปี 2557 รวมไปถึงการยุบพรรคการเมืองของทักษิณก่อนหน้าการเลือกตั้งตามคำสั่งศาล

และรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ระบุว่า นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นจะต้องมาจากการเลือกตั้ง และยังกำหนดให้วุฒิสภามาจากการแต่งตั้งของทหาร และมีหน้าที่ในการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นช่วงที่ไทยกลับไปสู่ยุคที่เรียกว่า “รัฐบาลพลเรือนจำแลง” ที่สนับสนุนโดยทหาร

ข้อเขียนนี้ระบุว่า ความขัดแย้งทางการเมืองเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วโลก แต่สิ่งที่ทำให้ประเทศไทยมีความโดดเด่นในเรื่องนี้คือ ประเทศไทยเกิดการรัฐประหารและการชุมนุมต่อต้านทางการเมืองซ้ำแล้วซ้ำเล่า แทนที่จะมีการเลือกตั้งหรือถกเถียงกันในการประชุมสภา ที่ถือเป็นแนวทางมาตรฐานของการแก้ปัญหาความขัดแย้งในเรื่องประชาธิปไตยและการเมืองในสภา

อิคูโอะ อิวาซากิ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลับทาคูโชกุ ของญี่ปุ่น กล่าวไว้ว่า แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งทุกๆ 4 – 5 ปี ก็เป็นการบ่งชี้ถึงความเข้าใจในระบบประชาธิปไตยของคนไทย ที่ดูเหมือนจะมีความเข้าใจอันน้อยนิดเกี่ยวกับกฎพื้นฐานที่ว่า หากแพ้การเลือกตั้ง ก็ต้องยอมรับความพ่ายแพ้ และถอยออกไป

เช่นเดียวกับสภาพที่กำลังเกิดในประเทศอินโดนีเซีย หลังจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา และพรรคฝ่ายค้านไม่ยอมรับผลความพ่ายแพ้ ที่ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ได้รับเลือกให้เป็นผู้นำประเทศอีกสมัยจนทำให้เกิดการประท้วง และทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 8 ราย

โดยตามรายงานการจัดอันดับประชาธิปไตยประจำปีของธนาคารโลก พบว่า ประเทศไทย ตกไปอยู่อันดับที่ 161 จากเมื่อ 20 ปีก่อน ที่อยู่ที่อันดับ 80 ขณะที่ประเทศอินโดนีเซีย อันดับดีขึ้นอยู่ที่ 101 จาก 160 แม้ว่าแนวโน้มเรื่องประชาธิปไตยของ 2 ประเทศจะสวนทางกัน และเป็นสองประเทศที่เป็นประเทศชั้นนำในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ก็ยังมีประชาธิปไตยที่ถือว่า “ไม่พัฒนา”