กกร.ชี้ส่งออกปีนี้ซบหนัก ระทึกอาจติดลบ 3 ก.ค.นี้ รื้อเป้าจีดีพีใหม่

วันที่ 5 มิถุนายน 2562 นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ที่มีการปรับขึ้นอัตราภาษีสินค้าระหว่างกันในล็อตที่เหลือทำให้การค้าโลกรวมถึงการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ซบเซา ซึ่งยอมรับว่าการส่งออกของไทยปีนี้อาจไม่สามารถขยายตัวเป็นบวกได้ตามที่คาดการณ์ไว้ 3-5% รวมถึงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ (จีดีพี) จากปัจจุบันคาดจีดีพีเติบโตที่ 3.7-4%

“เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปีนี้ที่เติบโต 2.8% ถือว่าต่ำสุดในรอบ 4 ปี 3 เดือนหรือ 17 ไตรมาส ซึ่งขณะนี้ยอมรับว่าการส่งออกหดตัวและมีสัญญาณทยอยหดตัวต่อเนื่อง โอกาสที่การส่งออกจะเป็นบวกเหมือนที่ผ่านมาจึงเป็นไปได้ยาก ซึ่งหากเศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาการส่งออกตัวเดียวจีดีพีคงเป็นลบ แต่เนื่องจากรายได้ของประเทศยังมีปัจจัยบวกอีกหลายด้าน เช่น การท่องเที่ยว การลงทุน การบริโภคในประเทศที่ยังพอไปได้ กกร. จึงอยู่ระหว่างติดตามข้อมูลรอบด้านทั้งปัจจัยบวกและลบ เพื่อประกอบการพิจารณาทบทวนปรับประมาณการส่งออกและจีดีพีอีกครั้งในวันที่ 3 ก.ค.นี้” นายปรีดี กล่าว

นอกจากนี้ ต้องจับตาปัจจัยการเมืองในประเทศที่การจัดตั้งรัฐบาลมีความล่าช้าเป็นเรื่องที่ห่วง เพราะส่งผลให้การจัดสรรและเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2563 ล่าช้าออกไปด้วย เพิ่มความเสี่ยงให้เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังอาจขยายตัวชะลอลงกว่าที่คาด โดยหวังว่าสถานการณ์การเมืองในประเทศจะมีความชัดเจนโดยเร็ว และมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศไม่ให้เศรษฐกิจถดถอยลงมากไปกว่านี้

นายปรีดี กล่าวว่า กกร. เป็นห่วงและหวังว่าสถานการณ์ต่างๆ จะทยอยมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นภาวะการใช้จ่ายในประเทศและการกระตุ้นจากภาครัฐจะสามารถเป็นแรงส่งเศรษฐกิจไทยในยามที่ปัจจัยต่างประเทศประสบกับความยากลำบากได้ โดย กกร. เตรียมจัดทำข้อเสนอสมุดปกขาวเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อให้ทราบถึงประเด็นปัญหาและแนวทางต่างๆ ในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยก่อนที่รัฐบาลชุดใหม่จะเริ่มปฏิบัติหน้าที่เร็วๆ นี้

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานส.อ.ท. กล่าวว่า คาดการณ์การส่งออกและจีดีพีปีนี้ลดลงจากเดิมแน่นอน เพราะเริ่มเห็นการส่งออกไตรมาสแรกของปีนี้ติดลบ 1.9% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 6.7% แม้วันนี้จะไม่ได้หารือเรื่องการเมืองโดยตรง เพราะเบื้องต้นเห็นภาพการจับขั้วการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลที่ชัดเจนแล้ว จึงอยากให้รัฐบาลใหม่ผลักดันและขับเคลื่อนการทำงานต่อเนื่อง และอยากเห็นบทบาทการทำงานร่วมกันระหว่างภาคเอกชน โดยทาง กกร. อยากให้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) เป็นประจำทุก 6 เดือน และการประชุมคณะกรรมการความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจเป็นประจำทุก 3-4 เดือนจากการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อ 2 ปีก่อน

“ขณะนี้ทำอย่างไรก็ได้ให้คนมีเงิน นำเงินออกมาใช้ให้มากที่สุด เกิดการกระตุ้นในประเทศและให้มีเงินหมุนเวียนในประเทศ เช่น การลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ช่วงนี้ซบเซา รวมถึงการทบทวนความจำเป็นปลดล็อกมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (แอลทีวี) ที่ต้องดำเนินการอย่างสมดุลไม่ให้มีการเก็งกำไร พร้อมกับกระตุ้นสินค้าเกษตร ขยายตลาด พร้อมมีมาตรการทางการเงินช่วยเหลือเอสเอ็มอี”นายสุพันธุ์ กล่าว