ศ.ดร. จรัส สุวรรณมาลา ยันไม่เคยมีประเพณีแสดงวิสัยทัศน์ก่อนโหวตนายกฯ บอกตรงๆ ‘ให้กำลังใจพลเอกประยุทธ์’

ในที่สุดวันของการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีก็มาถึง 5 มิถุนายน วันชี้ประวัติศาสตร์ก้าวต่อไปสำหรับถนนสายการเมืองของไทย โดยไร้เงาพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาที่สภาในวันนี้ หลังจากเคยมีผู้เรียกร้องให้มีการแสดงวิสัยทัศน์ แต่ไม่เป็นผล กระทั่งธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แถลงวิสัยทัศน์นอกห้องประชุมในช่วงบ่ายวันเดียวกัน

ประเด็นการอภิปรายและแสดงวิสัยทัศน์นี้ ศ.ดร. จรัส สุวรรณมาลา นักวิชาการรัฐศาสตร์ชื่อดัง เคยให้ความเห็นไว้ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน ว่าไม่เคยมีประเพณีดังกล่าวรายละเอียดดังนี้

“ขั้นตอนปกติคือการเสนอชื่อในที่ประชุมแล้วโหวตกันเลย สำหรับคุณสมบัติ ในประเด็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ซึ่งยังไม่มีการตีความอย่างชัดเจนนั้น ถ้าไม่จบที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องไปถึงศาล กระบวนการก็ต้องเดินไปเรื่อยๆ ซึ่งอาจใช้เวลานาน ไม่แน่ใจว่าจะเร็วหรือช้า แต่ต้องให้ไปถึงที่สุดจึงจะตีความ อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นเรื่องที่ซีเรียส กกต.ก็คงไม่ช้า แต่เข้าใจว่าคงไม่ซีเรียส

ส่วนประเด็นต้องห้ามในมาตรา 160 คงผ่านไปแล้ว ไม่เช่นนั้นการที่พรรคพลังประชารัฐจะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกฯ ก็คงทำไม่ได้ตั้งแต่ต้น หากไปนำประเด็นดังกล่าวมาพิจารณาอีก ก็จะเป็นการย้อนกลับไปว่า กกต.รับได้อย่างไร เหมือนกรณีที่พรรคการเมืองพรรคหนึ่งเสนอชื่อบุคคลที่รัฐธรรมนูญไม่ให้เกี่ยวข้องกับการเมือง ถ้ามีจะเป็นกระบวนการทำนองนั้น แต่ในเมื่อผ่านขั้นตอนนั้นไปแล้ว ก็ไม่น่าจะเป็นประเด็นอีก หากจะเป็นประเด็นคงเป็นไปแล้ว

ตอนนี้ต้องยอมรับว่าใกล้ถึงวันเลือกนายกฯ ก็จะมีผู้ที่พยายามยกหรืออ้างข้อโต้แย้งขึ้นมาเยอะ เป็นลูกเล่นทางการเมือง การที่มีคนส่งเสียงขึ้นมา เป็นเรื่องดีที่สื่อทำหน้าที่กระบอกเสียง สะท้อนความเห็นของผู้เห็นต่าง แต่ขอให้มีสตินิดหนึ่ง ถ้าเอียงมากๆ สื่อจะดูไม่ดี

เมื่อมีการเลือกนายกฯแล้ว ก็ต้องยอมรับ บอกตรงๆ ว่าให้กำลังใจ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะหลังจากนี้จะมีเรื่องปวดหัวที่สุด การตั้งคณะรัฐมนตรีจะตั้งได้หรือไม่ได้ เมื่อตั้งได้แล้วจะบริหารอย่างไร

ส่วนเรื่องที่มีผู้เรียกร้องให้แสดงวิสัยทัศน์ ก่อนโหวตนายกฯ ไม่เคยมีประเพณีดังกล่าว ถ้าให้แสดงวิสัยทัศน์น่าจะเป็นขั้นตอนเสนอแคนดิเดต สำหรับในต่างประเทศก็ไม่ทำกัน ถ้ามีคือตอนหาเสียงมากกว่า”

มติชนออนไลน์