เพจ สนช. ลั่น ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง! ชี้โหวตนายกฯได้ อ้างเสียงข้างมากเห็นชอบคำถามพ่วง

วันที่ 3 มิถุนายน 2562 เพจเฟซบุ๊กของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งส่วนใหญ่ปัจจุบันเป็นสมาชิกวุฒิสภา(สว.) โพสต์ภาพบุคคลที่ทาง สนช. คาดเป็นคู่แข่งสำคัญ 3 คน ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โดยระบุข้อความว่า 5 มิ.ย.ประชุมรัฐสภา ส.ส.และ สว. เลือกนายกรัฐมนตรี พร้อมแสดงความรู้สึกตื่นเต้น

โดยในภาพมีข้อความว่า การประชุมรัฐสภา ส.ส. และ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี สมาชิกวุฒิสภาในหลายหลายประเทศทั่วโลกที่เป็นประชาริปไตยแบบที่คนทั่วไปยอมรับกันเป็นสากลนั้นก็มีมาจากการแต่งตั้งบ้าง อาทิ อังกฤษ มาจากการเลือกตั้งบ้าง อาทิ อเมริกา สำหรับประเทศไทยในครั้งนี้ ก็มีมาจากการเลือกตั้ง 50 คน สรรหาแต่งตั้ง 200 คน (194 คน + โดยตำแหน่งอีก 6 คน)

แต่ประเด็นสำคัญก็คือเดิมที สว.จะไม่ได้ร่วมในกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีตามบทหลักของรัฐธรรมนูญปี 2560 แต่เพื่อให้การปฏิรูปประเทศมีความต่อเนื่อง จึงได้มีคำถามพ่วงไปพร้อมกับการลงประชามติเห็นชอบในรัฐธรรมนูญปี 2560 และประชาชนก็ได้มีประชามติเสียงข้างมากกว่า 15 ล้านเสียง (15,132,050 คนต่อ 10,926,648 คนห่างกันกว่า 5 ล้านคน) เห็นชอบว่าในช่วง 5 ปีแรกให้สมาชิกวุฒิสภาร่วมในการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีเพื่อสานต่อการปฏิรูปประเทศ

การที่ สว. ร่วมเลือกนายกด้วยใน 5 ปีแรก จึงเป็นการทำหน้าที่ตามระบอบประชาธิปไตยเสียงข้างมากโดยแท้ ตามที่ผู้คนที่ชอบอ้างอิงประชาธิปไตยยึดถือมาตลอด

ทั้งนี้ ตามเอกสารประกอบของสำนักวิชาการ สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ถูกเผยแพร่เมื่อตุลาคม 2560 ให้รายละเอียดเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.ว่า โดยในส่วนมาจากการเลือกตั้ง 50 คนนั้น อยู่ในรายละเอียดที่ว่า

คณะรักษาความสงบแห่งชาติคัดเลือกผู้ได้รับเลือกจากบัญชีรายชื่อที่ได้รับจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้ได้จํานวน 50 คน และคัดเลือกรายชื่อสํารองจํานวน 50 คน โดยการคัดเลือกดังกล่าวให้คํานึงถึงบุคคลจากกลุ่มต่าง ๆ อย่างทั่วถึง

และในส่วนวุฒิสภาที่มาจากคณะกรรมการเลือกตั้งนั้น ถูกระบุไว้ว่า

ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดําเนินการจัดให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาให้มีจํานวน 200 คน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาโดยมาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทํางานหรือเคยทํางานด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคม โดยในการแบ่งกลุ่มต้องแบ่งในลักษณะที่ทําให้ประชาชนซึ่งมีสิทธิสมัครรับเลือกทุกคนสามารถอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้