ปีหน้า! บาดเจ็บ-ตาย-ทรัพย์สินเสียหายจาก“รถเมล์ขสมก.”คุ้มครองวงเงินสูงสุด1,000,000บ.

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

(30 ธ.ค.) ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงาน คปภ. ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เพื่อนำระบบประกันภัยเข้าไปลดความเสี่ยงภัยอย่างเป็นรูปธรรมให้กับรถยนต์โดยสารสาธารณะ ภายใต้การดำเนินงานของ ขสมก. อย่างเป็นระบบครบวงจร และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนผู้ใช้บริการรถยนต์โดยสารสาธารณะของ ขสมก. ว่าจะได้รับความคุ้มครองจากระบบประกันภัยอย่างมีประสิทธิภาพนั้น

ความคืบหน้าล่าสุด สำนักงาน คปภ. ได้ผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์ประกันภัยและอัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์ แก่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และได้ร่วมกันกำหนดกรอบ แนวทางการรับประกันภัย จำนวนเงินเอาประกันภัยที่เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน ความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และอนามัย เพื่อความเหมาะสมกับทั้ง 2 ฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนผู้ใช้บริการรถเมล์ของ ขสมก. ต้องได้รับประโยชน์สูงสุดจากระบบประกันภัยอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้เสนอความเห็นในการเพิ่มความคุ้มครองความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย จากเดิมกำหนดไว้ 750,000 บาท/คน ปรับเพิ่มเป็นจำนวนเงิน 1,000,000 บาท/คน ซึ่งประชาชนที่ใช้บริการรถเมล์ของ ขสมก. รวมทั้งบุคคลภายนอกที่ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตจากรถเมล์ของ ขสมก. จะได้รับความคุ้มครองวงเงินสูงสุด 1,000,000 บาท/คน และความคุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สิน จำนวนเงิน 1,000,000 บาทต่อครั้ง

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อได้บริษัทประกันภัยที่เป็นผู้รับประกันภัยให้กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ประจำปี 2560 แล้ว ขั้นตอนต่อไป สำนักงาน คปภ. จะได้เชิญผู้แทนบริษัทเข้ามาหารือเกี่ยวกับการรับประกันภัยและการจัดการสินไหมทดแทน เพื่อให้ระบบการจ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม โดยให้บริษัทที่เป็นผู้รับประกันภัยจัดทำรูปแบบเอกสาร

สำหรับวิธีการจัดการกรณีเกิดอุบัติเหตุเป็นพิเศษสำหรับ ขสมก. รวมถึงขอให้เร่งศึกษาเส้นทางเดินรถและจุดเสี่ยงภัยในเส้นทางที่มักเกิดอุบัติเหตุ เพื่อให้การบริการในการแจ้งอุบัติเหตุมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งสำนักงาน คปภ. จะส่งผู้แทนของ คปภ. และบริษัทประกันภัยไปให้ความรู้ด้านการประกันภัย และอบรมแนวทางการจัดการสินไหมทดแทนแก่พนักงาน ขสมก. ก่อนการเริ่มต้นสัญญาประกันภัยด้วย

ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน คปภ.1186 หรือ เว็บไซต์ www.oic.or.th สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สายด่วน คปภ. 1186 หรือเว็บไซต์ www.oic.or.th หรือ ฝ่ายสื่อสารองค์กร โทรศัพท์ 02-515-3998-9 ต่อ 8307 โทรสาร 02-513-1437 http://www.facebook.com/PROIC2012