‘ไอติม’ ลั่น ทางเลือกที่ดีที่สุด ปชป. ทำหน้าที่ ‘ฝ่ายค้านอิสระ-ไม่ร่วม พปชร.’

กรณีมีกระแสข่าวว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ได้ร่างหนังสือเตรียมลาออกจาก ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ หากพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ ปฏิเสธ ไม่ขอแสดงความเห็น ทั้งนี้เดิมมีกำหนดประชุมกรรมการบริหารพรรคปชป.เพื่อหารือว่าจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมรัฐบาลกัยพรรคพลังประชารัฐ ในเย็นวันนี้ แต่ล่าสุด ปชป.ได้แถลงข่าวเลื่อนการประชุมกรรมการบริหารพรรค ปชป.โดยไม่มีกำหนด เนื่องจากพปชร.ไม่ได้ส่งคำตอบในเงื่อนไขที่เสนอไปกลับมาตามกำหนดเวลานั้น

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพริษฐ์ วัชรสินธุ อดีตผู้สมัครส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำกลุ่มนิวเด็ม โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ด้วยข้อความระบุว่า

ขออนุญาตย้ำจุดยืนเดิมอีกครั้งในฐานะสมาชิกพรรคตัวเล็กๆคนหนึ่ง ก่อนที่คำพูดของผมจะไม่มีประโยชน์แล้ว…

ผมยื่นข้อเสนอนี้ หลังเลือกตั้งไม่นาน 2 เดือนที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสพูดคุยรับฟังกับหลากหลายความคิดเห็นและอธิบายทุกข้อสงสัย

มาถึงวันนี้ ผมมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่า ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศในความคิดเห็นของผม ซึ่งตอนนี้ตกอยู่ในมือของพรรคประชาธิปัตย์ คือการที่พรรคทำหน้าที่เป็น #ฝ่ายค้านอิสระ และไม่ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ เพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ความคิดเห็นเพิ่มเติมจากโพสต์ดั้งเดิม

1. อย่าบอกว่า “ฝ่ายค้านอิสระไม่มีจริง”
– ถ้าไม่เห็นด้วยไม่เป็นไร ไม่เลือกทางนี้ก็ไม่ว่า แต่อย่าปฏิเสธว่าไม่มีจริง เพราะการที่พรรคฝ่ายค้านมีหลายพรรคและไม่ได้เห็นด้วยกันหมดทุกเรื่อง เป็นเรื่องปกติในระบบรัฐสภา ซึ่งก็มีอยู่จริง ณ ปัจจุบัน ในกว่า 20 ประเทศทั่วโลก ที่มีรัฐบาลเสียงข้างน้อย ที่ต้องพึ่งเสียงสนับสนุนจากบางพรรคฝ่ายค้านเป็นกรณีๆไป

2. อย่าผูกขาดกับคำว่า “ทำเพื่อชาติ”
– ผมเชื่อว่าทุกคนที่ไปใช้สิทธิ์ในวันเลือกตั้ง เชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่าพรรคที่เขาเลือกเป็นพรรคที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ เป็นเรื่องปกติที่คนเรามีความคิดเห็นต่างกันว่าอะไรดีที่สุดสำหรับประเทศ เพราะฉะนั้นอย่ามองว่าถ้าจะทำเพื่อชาติ ต้องเลือกไปด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น

3. อย่ามองว่า “ฝ่ายค้านทำประโยชน์ให้กับชาติไม่ได้”
– ถ้าพรรคจะเอาการผลักดันนโยบายของเราเป็นตัวตั้ง ผมก็ยังคิดว่าการเป็นฝ่ายอิสระที่ต่อรองนโยบายกับรัฐบาลที่อาจต้องพึ่งเสียงเราในสภาทุกครั้งที่ผ่านกฎหมาย ยังมีโอกาสต่อรองนโยบายได้ดีกว่าการเข้าร่วมรัฐบาล

4. อย่าให้คุณค่ามากจนเกินไปกับคำว่า “เสถียรภาพ”
– แน่นอนว่าประเทศต้องมั่นคง แต่ถ้าเสถียรภาพเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาประเทศและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เราคงไม่เห็นความต้องการของประชาชนที่อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงสูงเท่ากับที่แสดงออกผ่านผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา เพราะ 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ ประเทศไม่ได้ขาด “เสถียรภาพ” แต่ขาดการ “ตรวจสอบถ่วงดุล” ในระบบรัฐสภาที่เข้มข้น ที่คอยช่วยเตือนสติรัฐบาลเวลาการกระทำไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน (ยิ่งไปกว่านั้น การร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐก็ยังไม่ได้นำมาแม้กระทั่งเสถียรภาพ เพราะจะมีเสียงแค่ปริ่มน้ำ)

5. อย่าปล่อยให้สภาเป็นเพียงเครื่องมือของฝ่ายบริหารอย่างเบ็ดเสร็จ
– เหตุการณ์ต่างๆในวันแรกของสภา ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนประชุมโดยไม่ให้เหตุผลที่ชัดเจนกับประชาชน หรือ การพยายามจะใช้เสียงข้างมากกดดันให้ประธานสภาอนุญาตให้สมาชิกบางคนเปลี่ยนคำตอบที่ลงมติไปแล้ว แสดงให้เห็นว่าพรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้มีความต้องการที่จะให้สภาเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็นและเป็นกระบอกเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง นี่ไม่ใช่หรือคือ “เผด็จการรัฐสภา” ที่พรรคประชาธิปัตย์เคยต่อสู้มาโดยตลอด?

ผมเข้าใจว่าภาพที่ออกไปทำให้ประชาชนหลายคนอดคิดไม่ได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจแล้ว แต่ในเมื่อวันนี้ ท่านชวนได้รับเลือกเป็นประธานสภาและพรรคยังไม่มีมติร่วมรัฐบาล ผมหวังว่ายังไม่สายไป ที่เราจะตัดสินใจเลือกเป็นผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติอย่างเป็นกลาง และทำหน้าที่ฝ่ายค้านอิสระ เพื่อทำให้การเมืองเป็นเรื่องของนักการเมือง 500 คน ที่มาจากเสียงของประชาชน และเพื่อทำหน้าที่แทนประชาชนในการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล ต่อรองนโยบายและกฎหมายเพื่อประชาชน และหยุดการสืบทอดอำนาจที่เราอาจจะยับยั้งไม่ได้ด้วยวิธีอื่นในกรอบของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน

#ฝ่ายค้านอิสระ
#savedem
#ฟ้าหลังฝน

https://www.facebook.com/paritw/photos/a.1031794373500976/3019677738045953/?type=3&theater