เร่งหา ‘กัญชาสด’ ปรุง 16 ตำรับยาไทย สั่งจ่ายใน ก.ค.นี้ คาดต้องใช้ 11 ตันต่อปี

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้สัมภาษณ์ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ภายหลังเป็นประธานเปิดการอบรมผู้มีสิทธิ์สั่งใช้ยาทางการแพทย์ ซึ่งเป็นการจัดอบรมพร้อมกันทั่วประเทศ ทั้งในส่วนกลางและเขตสุขภาพ 13 เขตสุขภาพ รวมผู้เข้าอบรม 2,710 คน ว่า ในส่วนของความคืบหน้าการจัดหากัญชา เพื่อนำมาปรุงตำรับยาไทยให้ผู้มีสิทธิ์สั่งใช้ตำรับยาสมุนไพรที่มีกัญชาปรุงผสมได้ โดยทางหน่วยงานที่ได้ลงนามความร่วมมือกับกรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้แก่ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร (มทร.อีสาน) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สภาเกษตรกรแห่งชาติ อยู่ระหว่างการปลูก อีกทั้ง ยังประสานให้ทดลองปลูกกัญชาพันธุ์ไทยด้วย และล่าสุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ได้ประสานเพื่อขอปลูกกัญชา 2 ตัน ขณะเดียวกัน ยังมีความพยายามนำกัญชาของกลางเกรดพีเมียม จำนวน 400 กิโลกรัม (กก.) จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) มาตรวจวิเคราะห์เพื่อปรุงยา ซึ่งของกลางต้องไม่มีการปนเปื้อนยาฆ่าแมลง โลหะหนักและสารเคมีอื่น หากไม่พบการปนเปื้อน

“คาดว่าจะสามารถปรุงยาได้ต้นเดือนมิถุนายนนี้ จากนั้นคาดนำไปแจกจ่ายผู้ป่วยได้ภายเดือนกรกฎาคม กรณีไม่สามารถนำของกลางมาผลิตยาได้ จะมีการหารือร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหากัญชาพันธุ์ไทย เพื่อมาปรุงยาให้เพียงพอสำหรับผู้ป่วย เบื้องต้นมี 16 ตำรับยาไทยที่สามารถสั่งจ่ายได้ ซึ่งจะใช้ส่วนของช่อดอก ก้าน และใบของกัญชา มาเป็นส่วนผสมในการปรุง” นพ.มรุต กล่าวและว่า นอกจากนี้ คณะกรรมการด้านการประเมินรับรองตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาและกระท่อมและการใช้ยาแผนไทยที่มีกัญชาและกระท่อมปรุงผสมอยู่ในหน่วยงานของรัฐและเอกชน ยังได้มีการพิจารณาตำรับยาเป็นการปรุงยาเฉพาะรายเพิ่มเติมอีก 10 ตำรับ ซึ่งจะมีการนำเข้าคณะกรรมการยาเสพติดพิจารณาเห็นชอบ เพื่อประกาศกระทรวงต่อไป โดยในจำนวน 10 ตำรับ ไม่ได้หมายความว่าจะผ่านทุกตำรับ

นพ.มรุต กล่าวว่า ในส่วนการปรุงยาเฉพาะรายบางตำรับที่มีการใช้กัญชาไปหุงกับน้ำมันมะพร้าวของนายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี จะต้องพิจารณาอีกครั้งว่าจะสามารถขึ้นทะเบียนรับรองเป็นตำรับยาของหมอพื้นบ้านเฉพาะรายได้หรือไม่ เช่นเดียวกับการปรุงยาของเครือข่ายใต้ดิน หากมีการนำเสนอเข้ามาเพื่อขอรับรอง คณะกรรมการด้านการประเมินฯ จะมีการพิจารณาว่าเข้าข่ายหลักเกณฑ์เป็นตำรับยาดังกล่าวหรือไม่

“ส่วนการนำกัญชามาเป็นส่วนผสมในการปรุงยา 16 ตำรับ ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลชัดเจนมาก แต่คาดการณ์ว่าจะมีผู้ใช้ยาตำรับไทยประมาณ 1,000 คนต่อตำรับ โดยใช้กัญชาสดรวม 11 ตันต่อปี ทั้งนี้ ปริมาณการใช้กัญชาสดขึ้นอยู่กับความต้องการใช้ของผู้ป่วยและผู้สั่งใช้ ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก” นพ.มรุต กล่าวและว่า หากสามารถผลิตยาได้ กรมการแพทย์แผนไทยฯ จะมีหลักการกระจายยาไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เช่นเดียวกับยาเสพติดประเภทอื่น พร้อมจะมีการติดตามการใช้ของผู้ป่วย เช่น ปริมาณการใช้และโรคที่ใช้ ให้เป็นไปตามกรอบกฎหมาย และเพื่อให้ผู้ป่วยใช้ยาด้วยความระมัดระวัง โดยหนึ่งในตำรับยาแรกๆ ที่จะทำการผลิตเพื่อจ่ายผู้ป่วย จะเป็นน้ำมันสนั่นไตรภพ แก้เมื่อย และคาดจะได้ประโยชน์สำหรับกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งตับ และยาทาริดสีดวงและผิวหนัง

มติชนออนไลน์