วงแร็พต้านเผด็จการ บินลัดฟ้ารับรางวัลด้านสิทธิมนุษยชนระดับโลก

เมื่อช่วงกลางดึกวานนี้ (26 พฤษภาคม 2562) เฟซบุ๊กแฟนเพจของกลุ่ม Rap Against Dictatorship หรือ RAD เจ้าของเพลง ‘ประเทศกูมี’ และเพลง ‘250 สอพลอ’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า

“พวกเรา Rap Against Dictatorship 🇹🇭
กำลังเดินทางไปรับรางวัล Václav Havel Prize for Creative Dissent ในงาน Oslo Freedom Forum ที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ 🇳🇴
.
รางวัลนี้เราได้รับเกียรติจาก Human Rights Foundation (มูลนิธิสิทธิมนุษยชน) 🌎 ซึ่งมอบให้กับผู้กล้าหาญ มีความคิดสร้างสรรค์ในการคัดค้านความไม่ยุติธรรม 
.
งานนี้ส่งตัวแทน Liberate P & Jacoboi เป็นตัวแทนทีมไปรับ เป็นกำลังใจให้พวกเราด้วยนะครับ🤘🏻”

ทั้งนี้ วงแร็พเฉพาะกิจอย่าง RAD ได้แจ้งเกิดหลังปล่อยมิวสิควิดีโอเพลง “ประเทศกูมี” เมื่อปลายเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว ลงในยูทูบและทันทีที่ปล่อยออกมาก็ได้รับเสียงตอบรับจากสังคมแตกออกเป็นสองขั้ว เนื่องจากเพลงประเทศกูมี มีเนื้อในลักษณะเสียดสีสังคมไทยโดยการยกเอาเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศมาแต่งเป็นเนื้อร้อง และถ่ายทอดออกมาเป็น MV  Rap Against Dictatorship เป็นกลุ่มศิลปินแร็ปที่ต่อต้านเผด็จการ วิจารณ์การใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรม รวมถึงระบบกฎหมายที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือของคนกลุ่มเดียว ซึ่งสถิติยอดเข้าชมขณะนี้ (27 พ.ค. 2562) ประมาณ 63 ล้านครั้ง

ก่อนตามมาด้วยมิวสิควิดีโอเพลงที่ 2 อย่าง “250 สอพลอ” ที่วิจารณ์การแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา 250 คนซึ่งมาจากรัฐบาลทหาร คสช. ในลักษณะเสียดสีบทบาทของส.ว.ที่เป็นเครื่องมือรับรองความชอบธรรมในการสืบทอดอำนาจผ่านกลไกการเมืองแบบรัฐสภาให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

สำหรับรางวัล Václav Havel Prize for Creative Dissent ก่อตั้งขึ้นตามชื่อของ วอคราฟ ฮาเวล ประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐเช็ก หลังการล่มสลายของประเทศเชกโกสโลวเกีย อันเป็นผลพวงการเปลี่ยนผ่านจากระบอบคอมนิวมิสต์สู่ประชาธิปไตย ซึ่งรู้จักกันในเวลาต่อมาในชื่อ “การปฏิวัติกำมะหยี่” นายฮาเวล มีบทบาทในรณรงค์ต่อต้านผ่านงานประพันธ์และงานวรรณกรรม ตั้งแต่การรุกรานเชคโกสโลวเกียโดยกองทัพพันธมิตรวอร์ซอ นำโดยสหภาพโซเวียต ต่อมาพรรคประชาคมพลเมืองที่นายฮาเวลเป็นผู้นำได้มีบทบาทสำคัญต่อการเคลื่อนไหวจนนำไปสู่การปฏิวัติกำมะหยี่