สภาอุตฯเผยดัชนีความเชื่อมั่นฯเม.ย. ร่วงทุกกลุ่ม จี้เร่งตั้งรัฐบาลเพื่อสร้างเสถียรภาพการเมือง

วันที่ 23 พฤษภาคม 2562 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2562 อยู่ที่ระดับ 95.0ปรับตัวลดลงจากระดับ 96.3 ในเดือนมีนาคม โดยเป็นการปรับตัวลดลงในทุกกลุ่มประเภท ทั้งรายใหญ่ รายเล็ก ต่างจังหวัด ผู้ผลิต ผู้ส่งออก ครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ผลมาจากการเร่งการผลิตไปในช่วงเดือนก่อนหน้าเพื่อชดเชยการผลิตในเดือนเมษายน ที่มีวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อกำลังซื้อที่ลดลงโดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง

รวมทั้งการส่งออกที่หดตัวอันเนื่องมาจากการชะลอตัวของการค้าโลก นอกจากนี้ผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับการเมืองในประเทศ และต้องการให้มีความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อให้มีการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจทั้งด้านการค้าและการลงทุน

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 101.9 โดยลดลงจาก 104.2 ในเดือนมีนาคม เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ความผัน-ผวนของค่าเงินบาทที่มีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการส่งออก รวมทั้งปัญหาความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่กระทบต่อการส่งออกของไทย

จึงมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ด้วยการ 1.สนับสนุนแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งปรับหลักเกณฑ์ในการให้กู้เงินของธนาคาร ให้เหมาะสมและมีความคล่องตัวมากขึ้นเพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs 2. ปรับลดขั้นตอนการขอใบอนุญาตของหน่วยงานภาครัฐ โดยเร่งรัดโครงการ Regulatory Guillotine

“เอกชนเราอยากให้ตั้งรัฐบาลได้เร็วๆ เพราะจะทำให้การเมืองมีเสถียรภาพ สร้างความเชื่อมั่นได้มากขึ้น ดัชนีฯครั้งนี้ดิ่งตกหมด ทั้งในรายอุตสาหกรรม ไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ และในอีก 3 เดือนดัชนีฯกคงลงอีกอยู่ในจะขาลงต่อเพราะเทรดวอร์”

อย่างไรก็ตาม จากเดิมที่เอกชนคาดว่าหลังเลือกตั้งสถานการณ์จะจบและดีขึ้น แต่สุดท้ายก็ยังตั้งรัฐบาลไม่ได้
การที่เอกชนอยากเห็นรัฐบาลโดยเร็ว เพื่อต้องการให้ไทยได้ใช้เวทีการประชุมอาเซียน ในฐานะที่เป็นประธานอาเซียนปีนี้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อทำการเจรจาการค้า FTA เพราะมันจะมีประสิทธิภาพมากกว่า
และคาดการณ์ว่าในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เดือนมิ.ย. จะมีการหารือเพื่อ

ปรับเป้าส่งออก และ GDP เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกผันผวนอย่างมากจากสงครามการค้า ที่คาดว่าปีนี้ส่งออกอาจไม่ถึง 3%