ศาลเพิกถอนสิทธิลงเลือกตั้ง”บรรจบ นามวิเศษ” ผู้สมัคร ส.ว.บุรีรัมย์ 10 ปี

ศาลฎีกาคดีเลือกตั้งเพิกถอนสิทธิลงเลือกตั้ง “บรรจบ นามวิเศษ” ผู้สมัคร ส.ว. อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ บุรีรัมย์ 10 ปี หลัง กกต.แจกใบส้มยื่นคำร้องศาลวินิจฉัยตัดสิทธิเลือกตั้ง พบพฤติการณ์โทรให้ผู้สมัคร ส.ว.กลุ่มเดียวกันช่วยเลือก จูงใจจะให้เงินเท่าค่าลงสมัคร ส.ว.

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ศาลฎีกา สนามหลวง เมื่อเวลา 14.00 น. องค์คณะแผนกคดีเลือกตั้ง ได้นัดฟังคำสั่ง คดีหมายเลขดำ ลต.(ส.ว.) 2/2562 ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ร้อง ยื่นขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยและมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งของ นายบรรจบ นามวิเศษ อายุ 60 ปี อาชีพรับราชการ ผู้คัดค้าน ซึ่งเป็นผู้สมัครรับคัดเลือกเป็น ส.ว. อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์

โดยชั้นพิจารณาของศาล “นายบรรจบ” ผู้คัดค้าน ไม่ยื่นคำคัดค้าน

“ศาลฎีกา” แผนกคดีเลือกตั้ง ไต่สวนและตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า “นายบรรจบ” ผู้คัดค้าน เป็นผู้สมัครรับเลือกเป็น ส.ว. อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ กลุ่มการศึกษาและสาธารณสุข ต่อมา ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด พบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งหรือพรรคการเมือง หรือการกระทำใดๆ ที่เป็นเหตุให้การเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม โดยพบว่าเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.61 เวลาประมาณ 10.00 น. “นายบรรจบ” ผู้คัดค้าน ใช้โทรศัพท์ติดต่อกับผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ว. หญิงคนหนึ่ง ใน จ.บุรีรัมย์ กลุ่มเดียวกัน และพูดคุยในลักษณะชักชวนให้ไปลงคะแนนเสียงให้ โดยจะ คืนค่าสมัครให้ โดยผู้สมัครหญิงคนนั้นได้เปิดคลิปเสียงสนทนาดังกล่าวให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด และได้รายงานต่อกกต.

ซึ่ง กกต.ไต่สวนแล้ว เห็นว่าการกระทำของ “นายบรรจบ” ผู้คัดค้าน เป็นการสัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด เพื่อจูงใจให้ผู้สมัครหรือผู้มีสิทธิ์เลือกลงคะแนนให้แก่ผู้คัดค้าน เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2561 มาตรา 77 (1 ) ทำให้การเลือกตั้ง ส.ว.ไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จึงมีคำสั่งให้ระงับสิทธิสมัครเลือกตั้ง ส.ว.ของ “นายบรรจบ” ผู้คัดค้านไว้เป็นการชั่วคราว เป็นเวลา 1 ปีตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 224 (4) และ มาตรา 225

ส่วนการกระทำของ “นายบรรจบ” ผู้คัดค้าน เป็นการทำให้การเลือก ส.ว. ไม่ได้เป็นไปด้วยสุจริตเที่ยงธรรมหรือไม่นั้น “ศาลฎีกา” เห็นว่า ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ฯ มาตรา 61 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ประกอบรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 226 ววรคสาม บัญญัติว่า ก่อนการประกาศผลถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้ง กระทำให้การเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ศาลฎีกาสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี

โดยข้อเท็จจริง ได้ความจากการไต่สวนว่า ก่อนมีการเลือก ส.ว.ระดับจังหวัด “นายบรรจบ” ผู้คัดค้าน โทรศัพท์ไปหาบุคคลคนหนึ่งแล้วพูดว่า “ให้ไปลงคะแนนให้ผมระดับจังหวัด เดี๋ยวผมจะให้ค่าสมัครคืน…” ซึ่งข้อความดังกล่าวมีความหมายว่า ในการเลือก ส.ว.ระดับจังหวัดหากบุคคลนั้นเลือก “นายบรรจบ” ผู้คัดค้าน ก็จะให้ผลประโยชน์ตอบแทน โดยจะจ่ายเงินจำนวนเท่ากับค่าสมัครคืนให้ อันเป็นการจูงใจให้เลือก “นายบรรจบ” ผู้คัดค้าน และเป็นการเอาเปรียบผู้สมัครรายอื่นทำให้เจตนารมณ์ของการเลือก ส.ว. ที่ต้องการคนดี และบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์อาชีพหรือทำงานด้านต่างๆ ที่หลากหลายของสังคมเข้าไปทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนในวุฒิสภานั้นต้องเสียไป

การกระทำของ “นายบรรจบ” ผู้คัดค้าน จึงเป็นการสัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินได้ให้แก่ผู้ใด เพื่อจูงใจให้ผู้สมัครหรือผู้มีสิทธิ์เลือกลงคะแนนให้แก่ตน อันมีผลทำให้การเลือก ส.ว.ไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม “นายบรรจบ” ผู้คัดค้าน จึงต้องถูกเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 226 วรรคสาม และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.ฯ มาตรา 61 วรรคสอง

จึงพิพากษา ให้เพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งของ “นายบรรจบ นามวิเศษ” ผู้สมัคร ส.ว.เป็นเวลา 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา (22 พ.ค.62)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการอ่านคำสั่งวันนี้คงมีเพียงผู้แทนฝ่ายผู้ร้อง ที่เดินทางมารับทราบคำสั่งศาล ส่วน “นายบรรจบ” ผู้คัดค้านไม่ได้เดินทางมาศาล

มติชนออนไลน์